ผู้เขียน หัวข้อ: อาหารลดน้ำหนัก ช่วยได้ชัวร์หรือไม่  (อ่าน 39 ครั้ง)

siritidaphon

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 1001
  • จำหน่ายเครื่องจักรอุตสาหกรรมและสินค้าอุตสาหกรรม
    • ดูรายละเอียด
อาหารลดน้ำหนัก ช่วยได้ชัวร์หรือไม่
« เมื่อ: วันที่ 25 พฤศจิกายน 2024, 23:20:37 น. »
อาหารลดน้ำหนัก ช่วยได้ชัวร์หรือไม่

การมีรูปร่างที่ดี มีน้ำหนักไม่มากจนเกินไปเป็นสิ่งที่หลายคนต่างปรารถนา เพราะนอกจากจะเพิ่มความมั่นใจแล้วยังหมายถึงสุขภาพที่ดีและลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคที่เกิดจากการมีน้ำหนักตัวที่มากเกิน เช่นโรคอ้วน การลดน้ำหนักจึงเป็นกุญแจสำคัญและเป็นเป้าหมายที่ผู้ต้องการมีหุ่นสวย สุขภาพดีต่างมุ่งมั่น

วิธีพื้นฐานอย่างการควบคุมอาหารและการออกกำลังกาย แม้จะเป็นวิธีที่ดีต่อสุขภาพและช่วยให้การลดน้ำหนักเป็นไปอย่างธรรมชาติที่สุด แต่ด้วยเหตุที่ให้ผลช้าหรือรู้สึกว่าเป็นเรื่องยากที่จะทำ ปัจจุบันจึงมีการหันมาใช้อาหารเสริมหรือสมุนไพรที่เชื่อว่ามีสรรพคุณลดความอ้วนและกำจัดไขมันส่วนเกินกันอย่างแพร่หลาย อาหารลดน้ำหนักเหล่านี้จะสามารถช่วยได้จริงหรือไม่และทางวิทยาศาสตร์มีการพูดถึงสรรพคุณด้านนี้ว่าอย่างไรบ้าง

เมล็ดเจีย ลักษณะเป็นเมล็ดธัญพืชเล็ก ๆ ที่อาจมีสีน้ำตาล ดำ หรือขาวแล้วแต่ชนิด สามารถนำมาปรุงอาหารในรูปแบบที่หลากหลาย และเริ่มได้รับความนิยมในช่วงหลังมานี้ เนื่องจากกล่าวกันว่าเป็นอาหารที่อุดมคุณประโยชน์ ประกอบด้วยสารอาหารสำคัญหลากชนิด ในขณะที่ให้แคลอรี่ในปริมาณเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ทั้งยังมีกากใยทำให้ช่วยป้องกันท้องผูก โดยสาเหตุที่เชื่อว่าเมล็ดเจียอาจมีคุณสมบัติช่วยลดน้ำหนักนั้นมาจากความเชื่อที่ว่าเมล็ดเจียที่รับประทานเข้าไปจะพองตัวขึ้นในท้องจนทำให้รู้สึกอิ่มและรับประทานอาหารได้น้อยลง นำไปสู่น้ำหนักที่ลดลงในที่สุด

ทางวิทยาศาสตร์ได้มีการทดสอบคุณสมบัติในการช่วยลดน้ำหนักของเมล็ดเจีย งานวิจัยหนึ่งที่ทดลองกับผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงจำนวน 11 คน ด้วยการใช้ขนมปังที่ทำจากเมล็ดเจียจำนวน 7 กรัม 15 กรัม 24 กรัม หรือไม่ใช้เลย ปรากฏว่าการกินขนมปังที่มีเมล็ดเจียในปริมาณต่าง ๆ ช่วยทำให้รู้สึกอิ่มนานเมื่อระยะเวลาผ่านไป 120 นาที เมื่อเทียบกับขนมปังธรรมดา

ทว่าในการทดลองโดยตรงเกี่ยวกับประสิทธิภาพต่อการลดน้ำหนักและลดโอกาสเกิดโรคความเสี่ยงจากการมีน้ำหนักเกินในผู้ใหญ่ ด้วยการแบ่งกลุ่มผู้ทดลองชายหญิงที่มีน้ำหนักเกินหรืออ้วนเกินไปจำนวน 76 คน ให้รับประทานเมล็ดเจีย 25 กรัมผสมน้ำ 250 มิลลิลิตร วันละ 2 ครั้งก่อนอาหารมื้อแรกและมื้อสุดท้ายของวัน นาน 12 สัปดาห์ เทียบกับอีกกลุ่มที่ใช้ยาหลอกผสมกับน้ำให้ดื่มแบบเดียวกัน พบว่าการรับประทานเมล็ดเจียวันละ 50 กรัมไม่ได้ส่งผลให้น้ำหนักตัวลดลงหรือลดปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดเแต่อย่างใด ดังนั้นคุณสมบัติในการช่วยลดน้ำหนักของเมล็ดเจียจึงถือว่ายังไม่มีข้อพิสูจน์ที่แน่ชัด และจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป ก่อนที่จะมีการแนะนำให้รับประทานเมล็ดเจียเพื่อสรรพคุณด้านการลดน้ำหนัก

สำหรับผู้ที่ต้องการทดสอบประสิทธิภาพของเมล็ดเจียด้วยตนเองสามารถลองรับประทานได้ โดยการรับประทานเมล็ดเจียไม่เกินกว่า 12 สัปดาห์ แต่ไม่ควรใช้นานกว่านี้ เพราะการใช้ในระยะยาวยังไม่ทราบแน่ชัดว่าจะปลอดภัยหรือไม่ และยิ่งต้องระวังในการใช้เป็นพิเศษหากอยู่ในภาวะต่อไปนี้

    หญิงตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เนื่องจากยังไม่สามารถยืนยันถึงความปลอดภัยในการใช้ จึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานเมล็ดเจียในระหว่างนี้เป็นดีที่สุด
    ผู้ที่มีไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์ในเลือดสูง การรับประทานเมล็ดเจียบางชนิดเข้าไปอาจยิ่งทำให้ระดับไขมันชนิดนี้เพิ่มสูงขึ้น ผู้ที่มีปัญหาไตรกลีเซอร์ไรด์สูงที่ต้องการลองใช้เมล็ดเจียจริง ๆ ควรเลือกรับประทานเมล็ดเจียชนิดซัลบา (Salba) เนื่องด้วยคุณสมบัติที่จะไม่ไปเพิ่มระดับไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์ในเลือดมากนัก
    ผู้ป่วยหรือมีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ในเมล็ดเจียประกอบด้วยกรดอัลฟาไลโนเลนิก (Alpha-linolenic) จำนวนมาก และมีการศึกษาบางงานที่ชี้ว่าการรับประทานอาหารที่อุดมด้วยกรดนี้สูง อาจเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากขึ้นได้ ดังนั้นหากป่วยเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมากอยู่แล้วหรือมีความเสี่ยงที่จะเป็นก็ควรเลี่ยงการรับประทานเมล็ดเจียในปริมาณมาก ๆ
    เมล็ดเจียอาจทำให้เลือดแข็งตัวน้อยลงหรือส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยาบางชนิดอย่างวาร์ฟาริน (Warfarin) หรือแอสไพริน (Aspirin) ก่อนเข้ารับการผ่าตัดใด ๆ อาจจำเป็นต้องหยุดใช้ และหากต้องการรับประทานเมล็ดเจียหรือน้ำมันเมล็ดเจียเป็นประจำทุกวันก็ควรปรึกษากับแพทย์ก่อน

น้ำมันมะพร้าว ถึงแม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นไขมันชนิดหนึ่ง แต่หลายคนกลับเชื่อว่าไขมันจากน้ำมันมะพร้าวนี้มีประโยชน์ต่างจากไขมันจากอาหารชนิดอื่น ๆ โดยภายในน้ำมันมะพร้าวประกอบด้วยไขมันอิ่มตัวที่เป็นไตรกลีเซอร์ไรด์สายยาวปานกลาง และมีความเชื่อว่าไขมันเหล่านี้อาจส่งผลให้ร่างกายมีกระบวนการทำงานที่แตกต่างไปจากไขมันอิ่มตัวชนิดอื่น ๆ คือ แทนที่จะเปลี่ยนไปเป็นไขมันในร่างกาย น้ำมันมะพร้าวอาจช่วยเผาผลาญแคลอรี่ที่ได้รับ จึงมีการคาดว่าการรับประทานน้ำมันมะพร้าวอาจมีส่วนช่วยลดน้ำหนักและทำให้ระดับคอเรสเตอรอลลดต่ำลงได้

ผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ชิ้นหนึ่งทำการทดลองกับชายและหญิงอายุ 19-50 ปี จำนวน 31 คน โดยให้รับประทานน้ำมันไตรกลีเซอร์ไรด์สายยาวปานกลาง 18-24 กรัมต่อวันเทียบกับอีกกลุ่มที่รับประทานน้ำมันมะกอก ควบคู่กับการใช้โปรแกรมลดน้ำหนักเป็นเวลา 16 สัปดาห์ทั้ง 2 กลุ่ม ผลลัพธ์พบว่ากลุ่มที่รับประทานน้ำมันไตรกลีเซอร์ไรด์มีน้ำหนักที่ลดลงมากกว่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับกลุ่มที่รับประทานน้ำมันมะกอก

นอกจากนี้ อีกหนึ่งการทดลองเกี่ยวกับประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการใช้น้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ลดไขมันช่องท้อง ในกลุ่มอาสาสมัครชายและหญิงที่มีสุขภาพดีแต่มีภาวะอ้วนเกินจำนวน 20 คน ที่ให้รับประทานน้ำมันมะพร้าววันละ 3 ครั้ง ติดต่อนาน 1-6 สัปดาห์ ผลปรากฏว่าน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ช่วยให้รอบเอวลดลงได้ 2.86 เซนติเมตร หรือคิดเป็นประมาณ 0.97 เปอร์เซ็นต์จากการวัดเมื่อเริ่มต้นทดสอบ ทว่าผลลัพธ์ดังกล่าวพบในอาสาสมัครชายเท่านั้น และจากผลตรวจไขมันในเลือดก็ไม่ปรากฏการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นน้ำหนักตัวหรือค่าดัชนีมวลกาย ส่วนด้านความปลอดภัยนั้นถือว่าสามารถใช้ได้อย่างไม่เป็นอันตราย

อย่างไรก็ตาม ทางวิทยาศาสตร์ควรต้องมีการศึกษาถึงคุณประโยชน์ของน้ำมันมะพร้าวในด้านนี้เพิ่มเติมต่อไป แม้จะมีผลการวิจัยที่ชี้ว่าไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์สายยาวปานกลาง เช่น กรดลอริกที่พบในน้ำมันมะพร้าวจะไม่ส่งผลให้ระดับคอเรสเตอรอลชนิดไม่ดีเพิ่มขึ้นออกมา แต่การวิจัยดังกล่าวก็เป็นเพียงการศึกษาในระยะสั้น การศึกษาถึงความสัมพันธ์ของการรับประทานน้ำมันมะพร้าวกับผลเสียต่อสุขภาพของหัวใจยังมีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

เนื่องจากน้ำมันมะพร้าวเป็นอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวและแคลอรี่ที่สูง โดยน้ำมันมะพร้าวในปริมาณ 1 ช้อนโต๊ะประกอบด้วยไขมันถึง 13.6 กรัม กับอีก 117 แคลอรี่ น้ำมันมะพร้าวจึงอาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพหากจะเพิ่มการรับประทานน้ำมันมะพร้าวในอาหารที่รับประทานเป็นปกติทุกวัน และยังเป็นที่กังวลว่าการใช้ในปริมาณมาก ๆ อาจยิ่งทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นหรือมีระดับคอเรสเตอรอลเพิ่มสูง


ด้านความปลอดภัยในการใช้ น้ำมันมะพร้าวอาจสามารถนำมารับประทานหรือทาบนผิวหนังได้โดยไม่ก่อให้เกิดอันตราย หากใช้ในปริมาณและลักษณะที่เหมาะสม ทั้งนี้การใช้ควรต้องระวังเป็นพิเศษในผู้ที่มีภาวะเหล่านี้

    หญิงตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตรอาจใช้น้ำมันมะพร้าวได้อย่างปลอดภัย หากใช้ในปริมาณปกติที่พบได้จากอาหารในแต่ละวัน แต่ควรหลีกเลี่ยงการใช้ในปริมาณมาก เพราะยังไม่ทราบว่าจะเป็นอันตรายหรือไม่
    การให้เด็กรับประทานน้ำมันมะพร้าวในปริมาณปกติที่พบได้จากอาหารในแต่ละวันอาจปลอดภัย และน่าจะไม่มีอันตรายใด ๆ หากใช้ทาผิวหนังของกับเด็กหรือทารกในระยะสั้น ๆ ส่วนการรับประทานโดยหวังผลทางการรักษาใด ๆ ในเด็กนั้นยังไม่มีข้อมูลยืนยันถึงความปลอดภัยในการใช้
    มีข้อกังวลว่าน้ำมันมะพร้าวอาจไปเพิ่มระดับไขมันชนิดไม่ดีในร่างกาย แต่ก็มีหลักฐานโต้แย้งที่ชี้ว่าแท้จริงแล้วระดับไขมันที่เพิ่มขึ้นนั้นอาจเป็นไขมันชนิดดีที่ส่งผลต่อระดับไขมันเลวโดยรวมเพียงเล็กน้อยหรืออาจไม่มีผลเลย
    ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทุกครั้งก่อนใช้ยาใด ๆ หากกำลังรับประทานน้ำมันมะพร้าว เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าน้ำมันมะพร้าวสามารถทำปฏิกิริยาต่อยารักษาโรคอื่น ๆ ได้หรือไม่

ส้มขม (Bitter Orange) เป็นพืชชนิดหนึ่งที่มีการเอาเปลือก ดอก ใบ และผลมาสกัดเป็นยารักษาโรคต่าง ๆ รวมทั้งสรรพคุณในการลดน้ำหนัก โดยในส้มขมประกอบไปด้วยสารซินเนฟฟรีน (Synephrine) ซึ่งจัดเป็นสารกระตุ้นชนิดหนึ่งที่มีการกล่าวว่าสามารถช่วยเผาผลาญแคลอรี่ สลายไขมัน และลดความอยากอาหารลงได้ นอกจากนี้ สารสกัดจากส้มขมมักถูกนำมาใช้เป็นส่วนผสมในอาหารเสริมลดน้ำหนักแทนสมุนไพรอีเฟดรา (Ephedra) ซึ่งมีฤทธิ์เป็นสารกระตุ้นเช่นเดียวกัน แต่ถูกห้ามไม่ให้ใช้ในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 2004

จากการรวบรวมและวิเคราะห์การศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพและความปลอดภัยของการใช้สารสกัดส้มขมในปี 2012 ทั้งจากงานวิจัยที่มีการตีพิมพ์และไม่มีการตีพิมพ์จำนวนมากกว่า 20 ชิ้น ข้อสรุปชี้ว่าการใช้สารพี-ซินเนฟฟรีนอย่างเดียวหรือใช้ควบคู่กับคาเฟอีนไม่ทำให้หัวใจเต้นเร็วหรือมีความดันโลหิตสูงขึ้น ส่วนประสิทธิภาพในการใช้สารพี-ซินเนฟฟรีนหรือส้มขมสกัดอย่างเดียวหรือใช้ผสมผสานกับส่วนประกอบอื่น ๆ พบว่าช่วยเพิ่มอัตราการเผาผลาญพลังงานขณะพักผ่อน และอาจทำให้น้ำหนักลดลงได้พอประมาณจากการรับประทานเป็นระยะเวลา 12 สัปดาห์

อย่างไรก็ตาม การศึกษาทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันยังไม่น่าเชื่อถือเพียงพอที่จะยืนยันถึงคุณสมบัติและความปลอดภัยในการช่วยลดน้ำหนักของสารสกัดส้มขม อีกทั้งยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าสารสกัดจากส้มขมจะปลอดภัยกว่าสมุนไพรที่มีฤทธิ์เป็นสารกระตุ้นเช่นเดียวกันอย่างอีเฟดราที่ปัจจุบันถูกสั่งห้ามไม่ให้ใช้เป็นส่วนผสมของอาหารเสริมในสหรัฐอเมริกาเป็นที่เรียบร้อยแล้วหรือไม่


สำหรับความปลอดภัยของส้มขมในฐานะตัวช่วยของการลดน้ำหนักหรือรักษาโรคใดก็ตาม มีข้อควรพึงระวัง ดังนี้

    ส้มขมถือว่าค่อนข้างปลอดภัยต่อเด็กและผู้ใหญ่ หากรับประทานในปริมาณที่พบได้ปกติจากอาหารในแต่ละวัน และน่าจะไม่มีอันตรายเมื่อทาบนผิวหนังหรือใช้สูดดมกลิ่น
    หญิงตั้งครรภ์อาจรับประทานส้มขมในปริมาณปกติที่พบจากอาหารในแต่ละวันได้อย่างปลอดภัย แต่อาจก่อให้เกิดอันตรายหากรับประทานในปริมาณมากหรือเพื่อจุดประสงค์ทางการแพทย์ ด้านความปลอดภัยของการใช้ส้มขมระหว่างให้นมบุตรยังไม่ทราบถึงอันตราย เพื่อความปลอดภัยจึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานส้มขมขณะให้นมบุตร
    ผลิตภัณฑ์ที่มีสารสกัดส้มขมอาจไม่ปลอดภัยในการใช้ หญิงที่ตั้งครรภ์และกำลังให้นมบุตรจึงไม่ควรเลือกใช้
    การใช้ผลิตภัณฑ์หรืออาหารเสริมที่มีส่วนประกอบของสารสกัดส้มขมเพื่อจุดประสงค์ทางการแพทย์เช่น การลดน้ำหนัก อาจไม่ปลอดภัย โดยเฉพาะหากรับประทานกับสารที่มีฤทธิ์กระตุ้นอย่างคาเฟอีนหรือสมุนไพรอื่น ๆ ที่มีสารคาเฟอีน เพราะสามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอาการเจ็บ แน่นหน้าอก หมดสติ กระวนกระวาย ระดับความดันโลหิตเพิ่มสูง อัตราการเต้นของหัวใจเร็วกว่าปกติ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน และโรคหลอดเลือดในสมองแตกได้
    มีรายงานว่าการใช้ส้มขมสามารถกระตุ้นให้เกิดอาการปวดศีรษะ ไมเกรน และโรคปวดศีรษะคลัสเตอร์ได้ในบางราย
    การใช้ส้มขมอาจทำให้เกิดความไวต่อแสงแดด ระหว่างใช้ควรทาครีมกันแดดทุกครั้งก่อนออกไปเผชิญแสงแดด โดยเฉพาะผู้ที่มีผิวค่อนข้างขาว
    ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรใช้อย่างระมัดระวังและคอยตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดสม่ำเสมอ เพราะมีรายงานว่าส้มขมอาจส่งผลต่อการควบคุมน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2
    บางงานวิจัยชี้ว่าการรับประทานส้มขมสามารถส่งผลให้อัตราการเต้นของหัวใจหรือระดับความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้นในผู้ที่มีสุขภาพดี แต่ยังไม่มีการทดลองในผู้ป่วยที่มีอัตราการเต้นของหัวใจผิดปกติหรือมีระดับความดันโลหิตสูงอยู่แล้ว ทางที่ดีจึงไม่ควรเสี่ยงรับประทานส้มขมหากอยู่ในภาวะดังกล่าว โดยเฉพาะการใช้ร่วมกับสารกระตุ้นอย่างคาเฟอีน
    ผู้ป่วยโรคหัวใจบางชนิดที่ใช้ส้มขม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อใช้ร่วมกับคาเฟอีนหรือสารกระตุ้นชนิดอื่น อาจยิ่งเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเผชิญผลข้างเคียงที่รุนแรงอย่างภาวะคลื่นหัวใจไฟฟ้าผิดปกติที่เกิดจากการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Long QT Interval Syndrome)
    ส้มขมอาจทำให้อาการโรคต้อหินแย่ลงได้ ผู้ป่วยโรคนี้ควรหลีกเลี่ยงการใช้
    เนื่องจากส้มขมมีฤทธิ์เป็นสารกระตุ้นชนิดหนึ่ง จึงอาจส่งผลกระทบในระหว่างการผ่าตัด โดยจะไปเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจและความดันโลหิตให้สูงขึ้น ก่อนเข้ารับการผ่าตัดจึงควรหยุดใช้ส้มขมเป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์


ความปลอดภัยของการใช้อาหารหรือสมุนไพรช่วยลดน้ำหนัก

การรับประทานอาหาร สมุนไพร หรืออาหารเสริมใด ๆ ที่มีการกล่าวอ้างสรรพคุณช่วยลดน้ำหนักหรือกำจัดไขมันไม่ใช่วิธีที่แพทย์แนะนำให้ใช้ เนื่องจากยังไม่มีการรับรองใดที่สามารถยืนยันประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการใช้อาหารเหล่านี้ได้ นอกจากนี้ อาหารเสริมหรือผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนักที่กล่าวอ้างว่ามีส่วนผสมหรือทำจากสมุนไพรทั้งหลายเองนั้นใช่ว่าจะรับประกันความปลอดภัยได้เพียงเพราะเป็นวัสดุจากธรรมชาติ เพราะอาหารหรือสมุนไพรบางชนิดสามารถส่งผลข้างเคียงอันตราย หากรับประทานเข้าไปในปริมาณมากเกินกว่าที่พบได้ในอาหารปกติ และยังอาจก่อให้เกิดปฏิกิริยากับยารักษาโรคบางชนิดได้ ก่อนการใช้อาหารเสริมช่วยลดน้ำหนัก รวมถึงสมุนไพรและอาหารใด ๆ โดยหวังสรรพคุณด้านการลดน้ำหนักจึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง


การลดน้ำหนักที่ได้ผลและปลอดภัยต่อสุขภาพ

หลักสำคัญในการลดน้ำหนักอย่างได้ผลและปลอดภัยต่อสุขภาพ คือการควบคุมและปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร โดยรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพและหลากหลาย เน้นรับประทานผัก ผลไม้ที่มีน้ำตาลน้อย ธัญพืชที่ไม่ผ่านการขัดสี โปรตีน ไขมันต่ำทั้งหลาย รวมถึงไขมันชนิดดีในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อให้ได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วนเพียงพอ แต่พยายามเลี่ยงอาหารไขมันเลว เช่น ไขมันจากสัตว์ หรือไขมันในอาหารขยะต่าง ๆ และควรแบ่งรับประทานมื้อละน้อย ๆ แต่บ่อยครั้งแทน

ด้านการออกกำลังกายนั้นก็สำคัญไม่แพ้กัน การลดน้ำหนักควรต้องมีการบริหารร่างกายเพื่อช่วยเผาผลาญพลังงานและไขมันส่วนเกินออกไปพร้อม ๆ กับการปรับเปลี่ยนการรับประทานอาหาร ซึ่งการออกกำลังกายที่ช่วยลดน้กหนักได้ดี ได้แก่ การออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอ เช่น ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ เต้นแอโรบิก วิ่ง หรือเดิน และการสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ด้วยการออกกำลังกายแบบบอดี้เวท (Body Weight) หรือเวทเทรนนิ่ง (Weight Training) การใช้ยางยืดออกกำลังกาย เป็นต้น