Doctor At Home: เยื่อตาขาวอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย (Bacterial conjunctivitis)เยื่อตาขาวอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย พบได้บ่อยในคนทุกวัย ส่วนใหญ่ไม่มีอันตรายร้ายแรง และมักจะหายได้เองภายใน 10-14 วัน
สาเหตุ
เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น สเตรปโตค็อกคัส สแตฟีโลค็อกคัส สูโดโมแนส ฮีโมฟิลุส เป็นต้น ติดต่อโดยการสัมผัสถูกนิ้วมือ ผ้าเช็ดหน้า หรือผ้าเช็ดตัวที่ปนเปื้อนเชื้อ
บางครั้งอาจพบร่วมกับโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน เช่น ไข้หวัด คออักเสบ
นอกจากนี้ผู้ที่ใส่คอนแท็กต์เลนส์ที่ทำความสะอาดไม่ถูกต้องอาจเกิดการติดเชื้อเป็นโรคนี้ได้
อาการ
มีอาการตาแดง หนังตาบวม มีขี้ตามาก มีลักษณะเป็นสีเหลืองหรือสีเขียว บางรายตื่นขึ้นมาตอนเช้าพบว่าตาติดกันจนลืมไม่ขึ้น ต้องใช้น้ำเช็ดออก ผู้ป่วยมักจะมีอาการอักเสบของตาทั้ง 2 ข้าง โดยเป็นที่ตาข้างหนึ่งก่อนแล้วจึงลามมาอีกข้างหนึ่ง
ส่วนมากจะไม่มีอาการปวดตา หรือเคืองตามาก ไม่มีอาการคัน และต่อมน้ำเหลืองที่หน้าหูไม่โต
ภาวะแทรกซ้อน
หากได้รับการรักษา มักจะหายขาดภายใน 1-2 สัปดาห์
หากไม่ได้รับการรักษา เชื้อแบคทีเรียอาจลุกลามทำให้กระจกตาอักเสบหรือเป็นแผล
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกายเป็นหลัก ซึ่งมักตรวจพบอาการตาแดง หนังตาบวม มีขี้ตาสีเหลืองหรือเขียว
ในรายที่มีอาการรุนแรงหรือสงสัยติดเชื้อที่ร้ายแรง (เช่น เชื้อหนองใน ซึ่งส่วนใหญ่พบในทารกแรกเกิด) แพทย์อาจนำของเหลวที่ตา (น้ำตา ขี้ตา) ไปตรวจหาเชื้อ
ถ้าตรวจพบว่าเป็นตาอักเสบจากเชื้อหนองใน ดูโรคตาอักเสบจากเชื้อหนองใน
การรักษาโดยแพทย์
แพทย์จะใช้ยาป้ายตาหรือยาหยอดตาที่เข้ายาปฏิชีวนะทุก 2-4 ชั่วโมง และก่อนนอนควรใช้ชนิดขี้ผึ้งป้ายตาที่เข้ายาปฏิชีวนะ เพื่อป้องกันมิให้ตาติดกันตอนตื่นนอน ก่อนใช้ยาทุกครั้ง ควรใช้น้ำสุกเช็ดขี้ตาออก
ถ้าหนังตาบวมมาก จะให้กินยาปฏิชีวนะ เช่น ไดคล็อกซาซิลลิน หรือร็อกซิโทรไมซิน ถ้าปวดมากให้ยาแก้ปวด
ส่วนมากอาการจะดีขึ้นภายใน 2-3 วัน ควรให้ยาต่อสัก 5-7 วัน
ผลการรักษา มักจะหายขาดภายใน 1-2 สัปดาห์
การดูแลตนเอง
หากมีอาการปวดตา เคืองตา ตาแดง ขี้ตาแฉะ หนังตาบวม ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นเยื่อตาขาวอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย ควรดูแลตนเอง ดังนี้
รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
งดใช้คอนแท็กต์เลนส์จนกว่าจะหายดี
หลีกเลี่ยงการซื้อยาหยอดตามาใช้เอง เพราะอาจมีตัวยาที่ไม่ปลอดภัยหรือทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
ดูแลรักษาแล้วอาการไม่ทุเลาใน 2-3 วัน
มีอาการตาแดง ตาแฉะ หรือปวดตามากขึ้น หรือมีสายตาพร่ามัว
ขาดยา ยาหาย หรือกินยาไม่ได้
ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
การป้องกัน
หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่เป็นโรคตาแดง ตาอักเสบ
หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของเครื่องใช้ (เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว คอนแท็กต์เลนส์ แว่นตา เป็นต้น) ร่วมกับผู้ที่เป็นโรคตาแดง ตาอักเสบ
หมั่นล้างมือด้วยน้ำกับสบู่บ่อย ๆ หรือชโลมมือด้วยเจลแอลกอฮอล์บ่อย ๆ
ระวังอย่าเผลอใช้มือขยี้ตา
ข้อแนะนำ
1. ถ้าพบอาการตาอักเสบในทารกแรกเกิด ควรนึกถึงตาอักเสบจากเชื้อหนองในไว้เสมอ
2. เยื่อตาขาวอักเสบ (มีอาการตาแดง ตาแฉะ เคืองตา คันตา) อาจมีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส และจากการแพ้ ควรแยกให้ออกจากกัน เพราะการรักษาต่างกัน (ตรวจอาการ "เคืองตา/คันตา/ตาแฉะ/ตาแดง (Red Eye)" ประกอบ)
ถ้ามีการระบาด มักเกิดจากไวรัส