ผู้เขียน หัวข้อ: ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง: แอนแทรกซ์ (Anthrax)  (อ่าน 6 ครั้ง)

siritidaphon

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 969
  • จำหน่ายเครื่องจักรอุตสาหกรรมและสินค้าอุตสาหกรรม
    • ดูรายละเอียด
ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง: แอนแทรกซ์ (Anthrax)
« เมื่อ: วันที่ 11 พฤศจิกายน 2024, 18:24:31 น. »
ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง: แอนแทรกซ์ (Anthrax)

แอนแทรกซ์ (anthrax)* เป็นโรคติดเชื้อร้ายแรงที่เกิดขึ้นในสัตว์เลี้ยง (เช่น โค กระบือ ม้า อูฐ แพะ แกะ) ซึ่งสามารถติดต่อมาสู่คนได้ แต่จะไม่ติดจากคนสู่คนด้วยกัน

โรคนี้พบได้ประปราย ซึ่งมักพบในกลุ่มคนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยง (เช่น คนงานในโรงเลี้ยงสัตว์ โรงงานฟอกหนังหรือทำขนสัตว์ สัตวแพทย์ สัตวบาล) หรือบริโภคเนื้อสัตว์ดิบ ๆ

ในบ้านเรามีรายงานผู้ป่วยเป็นครั้งคราว เคยมีรายงานการระบาดหมู่จากการบริโภคเนื้อกระบือ เมื่อปี พ.ศ. 2525 (ป่วยเป็นแอนแทรกซ์คอหอย 24 ราย ตาย 3 ราย และในช่วงเดียวกันพบแอนแทรกซ์ผิวหนัง 52 ราย)

*โรคนี้มีความร้ายแรง มีการนำเชื้อแอนแทรกซ์ไปผลิตเป็นอาวุธชีวภาพเช่นเดียวกับโบทูลิซึม บรูเซลโลซิส กาฬโรค ฝีดาษ (ไข้ทรพิษ) เชื้อไวรัสสมองอักเสบ เชื้อไวรัสไข้เลือดออกร้ายแรง (Ebola และ Marburg) โรคทูลารีเมีย (tularemia)
ในปี พ.ศ. 2543 ในประเทศสหรัฐอเมริกามีผู้ที่รับจดหมายใส่ผงเชื้อแอนแทรกซ์ (ดูคล้ายแป้ง) จากผู้ไม่หวังดีป่วยเป็นโรคนี้ 22 ราย ตาย 5 ราย เชื่อว่าเชื้อแอนแทรกซ์ขนาด 1 กก. สามารถใช้ฆ่าคนได้ 10,000 คน

สาเหตุ

เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า บาซิลลัสแอนทราซิส (Bacillus anthracis) เชื้อโรคมีลักษณะเป็นสปอร์พบอยู่ตามดินทราย มีความทนทานอยู่ในสภาพแวดล้อมได้นานนับสิบปี และมีแมลงวันและนกแร้งเป็นตัวนำเชื้อไปแพร่กระจาย คนเราสามารถติดเชื้อเข้าสู่ร่างกายได้ 3 ทาง ได้แก่

    ทางผิวหนัง โดยการสัมผัสถูกสปอร์ (ตามดินทราย หนังสัตว์ ขนสัตว์) โดยตรง เชื้อจะผ่านเข้าทางบาดแผลหรือรอยถลอกบนผิวหนัง
    ทางปาก โดยการกินเนื้อสัตว์ที่ติดเชื้อ โดยไม่ได้ปรุงให้สุก
    ทางเดินหายใจ โดยการสูดเอาสปอร์เข้าไปในปอด มักพบในคนงานในโรงงานฟอกหนัง ทำขนสัตว์หรือหนังสัตว์

เมื่อสปอร์เข้าสู่ร่างกายก็จะมีการงอกเจริญเติบโตและปล่อยสารพิษหลายชนิดออกมาทำลายเนื้อเยื่อต่าง ๆ เกิดอาการอักเสบ บวม เป็นแผล เนื้อตาย เลือดออก

ระยะฟักตัว 1-6 วัน (ถ้าเกิดจากการสูดเข้าทางเดินหายใจ อาจนานถึง 6 สัปดาห์)


อาการ

โรคนี้แบ่งเป็น 3 ชนิด ตามลักษณะการติดเชื้อ ซึ่งมีอาการแสดงและความรุนแรงแตกต่างกัน ดังนี้

แอนแทรกซ์ผิวหนัง (cutaneous anthrax) เป็นชนิดที่พบได้มากที่สุด คือ ประมาณร้อยละ 95 ของผู้ป่วยแอนแทรกซ์ หลังติดเชื้อ 2-5 วันจะเกิดอาการ โดยเริ่มขึ้นเป็นตุ่มนูนที่ผิวหนังคล้ายถูกแมลงกัด แล้วใน 1-2 วันต่อมาจะเป็นตุ่มน้ำขนาด 1 ซม. มีลักษณะบวมโดยรอบ (บางครั้งอาจบวมรุนแรง ถ้าขึ้นที่บริเวณคอ อาจทำให้หายใจลำบาก) หลังจากนั้นประมาณ 1 สัปดาห์ ตุ่มน้ำจะแตกกลายเป็นแผลมีจุดดำตรงกลาง (ซึ่งเป็นเนื้อเยื่อที่ตาย) คล้ายถูกบุหรี่จี้ เรียกว่า สะเก็ดแผลไหม้ (eschar)* ตุ่มและแผลจะไม่เป็นหนอง ไม่รู้สึกเจ็บ อาจคันเล็กน้อย ถ้าไม่ได้รับการรักษาประมาณร้อยละ 20 ของผู้ป่วยจะมีการแพร่กระจายเชื้อไปทั่วร่างกาย เกิดอาการไข้ หนาวสั่น ปวดกล้ามเนื้อ คลื่นไส้ อาเจียน ต่อมน้ำเหลืองใกล้บริเวณแผลเกิดการอักเสบ และมีอาการติดเชื้อของอวัยวะต่าง ๆ เป็นอันตรายได้

แอนแทรกซ์ทางเดินอาหาร (gastrointestinal anthrax) พบได้น้อยกว่าร้อยละ 1 ของผู้ป่วยแอนแทรกซ์ อาการเกิดหลังกินเนื้อสัตว์ที่ไม่สุกประมาณ 2-3 วัน เริ่มด้วยอาการไข้ ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน ในรายที่เป็นรุนแรงจะมีอาการถ่ายเป็นเลือด ท้องมาน (ท้องบวมน้ำ) ช็อก

ในรายที่มีการอักเสบในคอหอย (แอนแทรกซ์คอหอย) จะมีอาการไข้ เจ็บคอ คอบวม กลืนลำบาก เลือดออกจากปาก หายใจลำบาก ต่อมน้ำเหลืองข้างคอโต

แอนแทรกซ์ปอด (inhalation หรือ pulmonary anthrax) พบได้ประมาณร้อยละ 5 ของผู้ป่วยแอนแทรกซ์ อาการเกิดหลังสูดเอาสปอร์เข้าไปในทางเดินหายใจประมาณ 1-6 วัน อาการแบ่งเป็น 2 ระยะ ระยะแรกจะเริ่มด้วยอาการไข้ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ไอแห้ง ๆ รู้สึกแน่นบริเวณยอดอก (ลิ้นปี่) คล้ายไข้หวัดใหญ่ ซึ่งอาจเป็นอยู่ 2-3 วัน อาการนี้ก็จะทุเลาลงหรือหายไปเอง แต่หลังจากนั้นก็เข้าสู่อาการระยะที่ 2 (ซึ่งสปอร์มีการงอกเจริญเติบโต และปล่อยพิษออกมาจำนวนมาก ทำลายปอดอย่างรุนแรง) ผู้ป่วยจะกลับทรุดลงด้วยอาการไข้สูง เหงื่อแตก หายใจหอบ ตัวเขียว บางรายอาจมีอาการไข้ต่ำหรือตัวเย็นเกินร่วมกับภาวะช็อก มักจะมีอาการอยู่ประมาณ 24 ชั่วโมง แล้วเสียชีวิตภายในเวลารวดเร็ว (หากไม่ได้รับการรักษา) ถ้าไม่ได้รับการรักษาแอนแทรกซ์ปอดมีอัตราตายร้อยละ 95

* ลักษณะแผลที่มีจุดดำเป็นที่มาของชื่อโรค คำว่า anthrax เป็นภาษากรีก แปลว่า ถ่านหิน (coal) ซึ่งมีสีดำ


ภาวะแทรกซ้อน

ร้อยละ 50 ของผู้ป่วยจะมีเยื่อหุ้มสมองอักเสบแทรกซ้อน เกิดจากการแพร่กระจายของเชื้อทางกระแสเลือด ซึ่งเกิดได้กับแอนแทรกซ์ทุกชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งแอนแทรกซ์ปอด

อาจเกิดภาวะช็อกจากการตกเลือดทางเดินอาหาร หรือจากร่างกายสูญเสียน้ำ (น้ำออกจากกระแสเลือดไปอยู่ในช่องท้องและเนื้อเยื่อต่าง ๆ)

บางรายอาจมีภาวะไตวายแทรกซ้อน ซึ่งเกิดจากพิษของแอนแทรกซ์


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ ดังนี้

แอนแทรกซ์ผิวหนัง จะพบรอยแผลที่ผิวหนังขึ้นเป็นตุ่มนูนแดง ต่อมากลายเป็นตุ่มน้ำแล้วแตกเป็นสะเก็ด มีจุดดำตรงกลางคล้ายรอยถูกบุหรี่จี้ เรียกว่า สะเก็ดแผลไหม้ ในระยะหลังอาจตรวจพบไข้ ต่อมน้ำเหลืองโต

แอนแทรกซ์ทางเดินอาหาร มักตรวจพบไข้ อาจพบแผลในช่องปาก เลือดออกจากปาก ต่อมน้ำเหลืองข้างคอโต คอบวม ในระยะหลังอาจพบอาการท้องมาน ถ่ายเป็นเลือด ซีด ช็อก

แอนแทรกซ์ปอด จะพบไข้ หายใจหอบ ตัวเขียว ช็อก ใช้เครื่องฟังปอดอาจได้ยินเสียงกรอบแกรบ (crepitation) เสียงหายใจค่อย ปอดเคาะทึบ (เนื่องจากมีภาวะน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด)

อาจตรวจพบภาวะแทรกซ้อน คอแข็ง หมดสติ (จากเยื่อหุ้มสมองอักเสบ) ปัสสาวะออกน้อยหรือไม่ออก (จากภาวะไตวาย)

แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น ย้อมเชื้อจากแผล เสมหะ หรืออุจจาระ เพาะเชื้อจากเลือดหรือเสมหะ พิสูจน์ชิ้นเนื้อผิวหนัง (skin biopsy) ทดสอบทางน้ำเหลืองเพื่อหาระดับสารภูมิต้านทาน เอกซเรย์ปอด (บางรายอาจต้องตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์) รวมทั้งทำการเจาะหลังเพื่อตรวจน้ำไขสันหลัง และใช้เครื่องส่องตรวจกระเพาะลำไส้


การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้

แพทย์จะรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล นอกจากการรักษาตามอาการ (เช่น ยาลดไข้ ให้เลือด ให้สารน้ำและเกลือแร่ ให้ออกซิเจน เป็นต้น) แล้ว ที่สำคัญคือการให้ยาปฏิชีวนะกำจัดเชื้อ เช่น ไซโพรฟล็อกซาซิน หรือดอกซีไซคลีน ร่วมกับคลินดาไมซิน และ/หรือไรแฟมพิซิน โดยให้ทางหลอดเลือดดำ เมื่อดีขึ้นจึงเปลี่ยนไปใช้ยาชนิดกินนาน 60 วัน

ผลการรักษา ถ้าได้รับยาปฏิชีวนะตั้งแต่ก่อนมีอาการ (สำหรับผู้สัมผัสโรค) หรือระยะแรกเริ่มของการแสดงอาการ หรือเป็นแอนแทรกซ์ผิวหนัง ก็มักจะได้ผลดี และหายได้เป็นส่วนใหญ่ แต่ถ้าให้การรักษาช้าเกินไป หรือในรายที่เป็นแอนแทรกซ์ปอด ก็มักจะได้ผลไม่ดี และยังมีโอกาสเสียชีวิตได้ (แอนแทรกซ์ปอดถึงแม้จะได้รับการรักษา ก็ยังมีอัตราตายสูงถึงร้อยละ 75) ส่วนผู้ป่วยที่มีเยื่อหุ้มสมองอักเสบแทรกซ้อนมักจะตายเกือบทุกคน


การดูแลตนเอง

หากสงสัย เช่น มีไข้สูงร่วมกับอาการหนาวสั่น มีแผลที่ผิวหนังเหมือนถูกบุหรี่จี้ หรือมีไข้ร่วมกับอาการไอ หายใจหอบ (ซึ่งพบในคนงานในโรงงานฟอกหนัง ทำขนสัตว์หรือหนังสัตว์) หรือมีไข้ร่วมกับอาการปวดท้อง ท้องเดิน ถ่ายเป็นเลือด (หลังกินเนื้อสัตว์ดิบหรือสุก ๆ ดิบ ๆ) ซึ่งพบในผู้ที่อยู่ในพื้นที่ที่มีคนหรือสัตว์ป่วยด้วยโรคนี้ ควรปรึกษาแพทย์

เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคแอนแทรกซ์ ควรดูแลตนเอง ดังนี้

    รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
    ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
    กินยาปฏิชีวนะให้ครบตามระยะที่แพทย์กำหนด (อาจนานถึง 60 วัน) ถึงแม้อาการดีขึ้นแล้วก็ตาม เพื่อป้องกันไม่ให้โรคกำเริบ


ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้าหลังจากออกจากโรงพยาบาลแล้วมีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    ขาดยา ยาหาย หรือกินยาไม่ได้
    ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน กินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ


การป้องกัน

1. ดำเนินมาตรการป้องกันและควบคุมโรคแอนแทรกซ์ในสัตว์เลี้ยงอย่างเคร่งครัดและทั่วถึง

2. หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์เลี้ยงที่ติดเชื้อหรือเป็นโรคแอนแทรกซ์

3. ไม่บริโภคเนื้อสัตว์ที่ไม่ได้ปรุงให้สุก

4. ผู้สัมผัสเชื้อ (กินเนื้อสัตว์ที่เป็นโรค สูดสปอร์แอนแทรกซ์เข้าปอด หรือสัมผัสถูกสัตว์ป่วยโดยตรง) ควรให้ยาป้องกันกินทันที (ก่อนมีอาการ) และกินติดต่อกันนาน 60 วัน โดยเลือกใช้ชนิดใดชนิดหนึ่งดังนี้

    ไซโพรฟล็อกซาซิน 500 มก. วันละ 2 ครั้ง
    ดอกซีไซคลีน 100 มก. วันละ 2 ครั้ง
    สำหรับเด็กและหญิงตั้งครรภ์ ให้อะม็อกซีซิลลิน 500 มก. ทุก 8 ชั่วโมง (เด็กให้ขนาด 80 มก./กก./วัน แบ่งให้วันละ 3 ครั้ง)

5. วัคซีนป้องกันแอนแทรกซ์ ไม่แนะนำให้ฉีดแก่คนทั่วไป แต่จะฉีดให้แก่กลุ่มคนที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อแอนแทรกซ์ เช่น ทหาร (เสี่ยงต่อการถูกโจมตีด้วยเชื้อแอนแทรกซ์) ผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยงในพื้นที่ระบาด ผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับหนังสัตว์หรือขนสัตว์ที่นำมาจากพื้นที่ที่มีการระบาด เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการเกี่ยวกับเชื้อชนิดนี้


ข้อแนะนำ

1. ปัจจุบันพบผู้ป่วยแอนแทรกซ์ในบ้านเราน้อยมาก เนื่องจากมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคในสัตว์เลี้ยงอย่างทั่วถึง แต่ในบางครั้งหรือบางแห่งอาจมีการละเลยในการป้องกันโรคในสัตว์เลี้ยง ก็ยังมีโอกาสแพร่โรคนี้มาสู่คนได้ จึงต้องระมัดระวังในการป้องกันโรคนี้

2. อาการแสดงของโรคนี้คล้ายไข้หวัดใหญ่ สครับไทฟัส ไทฟอยด์ อาหารเป็นพิษ ปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ดังนั้นถ้าพบผู้ที่มีอาการของโรคเหล่านั้น อย่าลืมถามประวัติการสัมผัสโรคจากสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่มีการระบาด

3. โรคนี้ติดต่อจากสัตว์เลี้ยงที่ติดเชื้อ ไม่ติดจากคนสู่คนด้วยกันเอง ดังนั้นไม่มีความจำเป็นต้องแยกหรือกักตัวผู้ป่วย