จากสถิติผู้ป่วยในประเทศไทย พบมียอดผู้เสียชีวิตจากโรคเบาหวาน เฉลี่ยปีละ 8,000 คน ซึ่งไม่ได้มีเพียงเฉพาะผู้สูงอายุเพียงเท่านั้น แต่ในปัจจุบันยังพบว่า คนรุ่นใหม่มีความเสี่ยง เป็นเบาหวานสูงเพิ่มขึ้นด้วย โดยส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการดำเนินชีวิต และการรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม แน่นอนว่า การที่ร่างกายไม่สามารถคุมเบาหวานได้ ปล่อยให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน อาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงเกี่ยวกับร่างกายตามมา มาดูกันว่า เบาหวาน แบ่งออกเป็นกี่ประเภท และฟื้นฟูดูแลอย่างไร
เบาหวาน มีกี่ประเภท
โรคเบาหวาน เป็นภาวะที่มีน้ำตาลในเลือดสูงเกินกว่าปกติ โดยเกิดจากการทำงานของฮอร์โมนอินซูลิน ที่สร้างจากตับอ่อน ส่วนเบต้าเซลล์ผิดปกติ ทำให้มีภาวะการหลั่งฮอร์โมนอินซูลิน จากตับอ่อนลดลง นำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน ที่รุนแรงมากขึ้น โดยสามารถแบ่ง เบาหวานแต่ละชนิดได้ดังนี้
เบาหวานชนิดที่ 1 (Type 1 Diabetes Mellitus) เกิดจากการทำลายเบต้าเซลล์ ที่ตับอ่อนจากภูมิคุ้มกันของร่างกาย มักมีอาการรวดเร็วและรุนแรง พบมากในเด็ก
เบาหวานชนิดที่ 2 (Type 2 Diabetes Mellitus) พบได้มากที่สุด มากกว่า 50% ของผู้ป่วยเบาหวาน เกิดจากอาการดื้อต่ออินซูลิน (Insulin Resistance) มักจะเกิดจากภาวะน้ำหนักเกินหรือภาวะอ้วน
เบาหวานชนิดอื่นๆ (Other Specific Types Of Diabetes Mellitus) เป็นกลุ่มอาการเบาหวาน ที่เป็นผลมาจากโรคหรือความผิดปกติอื่น เช่น โรคที่มีความผิดปกติของบริเวณตับอ่อน เบาหวาน ที่เกิดภายหลังการผ่าตัดตับอ่อน หรือเบาหวานจากโรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง
เบาหวานเกิดจากอะไร?
สาเหตุของโรคเบาหวานเกิดจากการที่ระดับน้ำตาลในกระแสเลือดสูงมากขึ้นถึงระดับหนึ่ง จนทำให้ไตดูดกลับน้ำตาลได้ไม่หมด ซึ่งปกติไตจะมีหน้าที่ดูดกลับน้ำตาลจากสารที่ถูกกรองจากหน่วยไตไปใช้ ส่งผลให้มีน้ำตาลรั่วออกมากับปัสสาวะ จึงเป็นที่มาของคำว่า “โรคเบาหวาน” หากเราปล่อยให้เกิดภาวะเช่นนี้ไปนานๆ จะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงตามมาในที่สุด
อาการโรคแทรกซ้อนจากเบาหวานมีกี่แบบ
อาการเบาหวานของแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่สามารถจัดกลุ่มเพื่อแบ่งระยะให้ง่ายต่อการฟื้นฟูดูแลได้ดังนี้
1.แบบเฉียบพลัน เป็นทันทีทันใด โดยผู้ป่วยจะซึมลง ไม่รู้สึกตัว หมดสติ เนื่องจากระดับน้ำตาลสูงและบางครั้งร่วมกับมีกรดในเลือดสูง มีสาเหตุติดเชื้อโรคอย่างรุนแรง ส่งผลทำให้ไตวายได้
2.โรคแทรกซ้อนเรื้อรัง ถ้าน้ำตาลในเลือดสูงอยู่นาน ทำให้มีการเสื่อมของหลอดเลือดแดง และเส้นประสาท
2.1 โรคแทรกซ้อนต่อหลอดเลือดแดง เช่น เส้นเลือดในสมองตีบเป็นอัมพาต ตาบอดจากเส้นเลือดที่จอรับภาพตีบ หัวใจวาย เจ็บหน้าอกจากเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจตีบ ทำให้เกิดความดันเลือดสูง มีแผลอักเสบเรื้อรังโดยเฉพาะเท้า
2.2 โรคแทรกซ้อนต่อระบบประสาท ทำให้ระบบประสาทเสื่อม ผู้ป่วยจะหน้ามืด เวียนศีรษะ เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ชาตามเท้า
2.3 เป็นต้อกระจกเร็วกว่าวัยอันสมควร
2.4 ติดเชื้อโรคง่าย เนื่องจากมีภูมิต้านทานโรคต่ำ เช่น เชื้อราที่ผิวหนัง วัณโรคปอด เป็นต้น
2.5 กระเพาะปัสสาวะอักเสบ
โรคเบาหวาน มีกี่ประเภท อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com/