ผู้เขียน หัวข้อ: ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง: ม่านตาอักเสบ (lritis/Anterior uveitis)  (อ่าน 217 ครั้ง)

siritidaphon

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 992
  • จำหน่ายเครื่องจักรอุตสาหกรรมและสินค้าอุตสาหกรรม
    • ดูรายละเอียด
ตรวจอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง: ม่านตาอักเสบ (lritis/Anterior uveitis)

ม่านตาอักเสบ (ผนังลูกตาชั้นกลางส่วนหน้าอักเสบ ก็เรียก) เป็นภาวะอักเสบของม่านตา (iris)* พบได้ในคนทุกเพศทุกวัย แต่จะพบมากในวัยทำงาน (กลุ่มอายุ 20-60 ปี) แม้โรคนี้พบได้ไม่บ่อย แต่อาจมีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงถึงขั้นสูญเสียการมองเห็นได้

*ม่านตา คือเนื้อเยื่อที่อยู่โดยรอบรูม่านตาที่ด้านหน้าตรงกลางลูกตา ซึ่งเห็นเป็นสีต่าง ๆ (เช่น น้ำตาล เทา ฟ้า) ม่านตาเป็นส่วนหนึ่งของผนังลูกตาชั้นกลาง (uvea) แต่เป็นส่วนที่อยู่ด้านหน้าของลูกตา เมื่อเกิดการอักเสบ เรียกว่า "ม่านตาอักเสบ (iritis)" หรือ "ผนังลูกตาชั้นกลางส่วนหน้าอักเสบ (anterior uveitis)" ซึ่งพบได้บ่อยที่สุดของโรคผนังลูกตาชั้นกลางอักเสบ (uveitis) ทั้งหมด

โรคผนังลูกตาชั้นกลางอักเสบ (uveitis) ถ้าเกิดที่ส่วนกลางของผนังลูกตา เรียกว่า Intermediate uveitis ถ้าเกิดที่ส่วนหลังของผนังลูกตา เรียกว่า Posterior uveitis ถ้าเกิดที่ผนังลูกตาทุกส่วนตั้งแต่ส่วนหน้าถึงส่วนหลัง เรียกว่า Panuveitis 

ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะโรคม่านตาอักเสบ หรือผนังลูกตาชั้นกลางส่วนหน้าอักเสบ

สาเหตุ

ผู้ป่วยส่วนหนึ่งไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ส่วนที่ทราบอาจมีสาเหตุได้หลายอย่าง เช่น

    การติดเชื้อแบคทีเรีย (เช่น วัณโรค ซิฟิลิส) ไวรัส (เช่น เริม งูสวัด เอดส์) เชื้อรา (เช่น histoplasmosis) หรือโปรโตซัว (เช่น toxoplasmosis)
    การได้รับบาดเจ็บที่บริเวณตา เช่น ถูกกระทบกระแทก บาดแผลถูกแทงทะลุ บาดแผลถูกไฟไหม้น้ำร้อนลวกหรือสารเคมี
    โรคภูมิต้านตนเอง (โรคออโตอิมมูน) ที่สัมพันธ์กับยีนเอชแอลเอ-บี27 (HLA-B27 หรือ Human leukocyte antigen B27)* เช่น ข้อสันหลังอักเสบเรื้อรัง โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง โซริอาซิสหรือสะเก็ดเงิน
    ยาบางชนิด เช่น Rifabutin (ยาปฏิชีวนะชนิดหนึ่ง), Cidofovir (ยาต้านไวรัสที่ใช้รักษาโรคเอดส์), Bisphosphonates (ยารักษาโรคกระดูกพรุน) เป็นต้น ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้เป็นส่วนน้อย เมื่อหยุดยาอาการก็จะหายเป็นปกติ 
    การสูบบุหรี่ พบว่าเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคม่านตาอักเสบมากขึ้น

*เป็นยีน (พันธุกรรม) ที่พบในคนบางคน ซึ่งกำหนดให้ร่างกายสร้างแอนติเจน (สารโปรตีนชนิดหนึ่ง) ที่อยู่บนผิวของเม็ดเลือดขาว เรียกว่า "Human leukocyte antigen B27" แอนติเจนชนิดนี้ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันเกิดปฏิกิริยาต่อต้านเซลล์ที่ปกติของร่างกาย ก่อเกิดโรคภูมิต้านตนเอง (autoimmune disease) ได้หลากหลายชนิด

อาการ

อาการอาจเกิดกับตาเพียงข้างเดียวหรือ 2 ข้างก็ได้ ส่วนใหญ่มักเป็นม่านตาอักเสบแบบเฉียบพลัน คือมีอาการเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน บางรายอาจเป็นม่านตาอักเสบแบบเรื้อรัง คือมีอาการแบบค่อยเป็นค่อยไป หรือเป็นเรื้อรังนานเกิน 3 เดือนขึ้นไป

ม่านตาอักเสบแบบเฉียบพลัน ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตา ตาแดง น้ำตาไหล ไวต่อแสง (ไม่สู้แสง หรือกลัวแสง) ตามองเห็นไม่ชัดหรือพร่ามัว บางรายอาจมีอาการปวดศีรษะร่วมด้วย

ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดตามากเมื่ออยู่ในที่สว่างหรือมีแสงจ้า แต่จะดีขึ้นเมื่ออยู่ในที่ร่มหรือมีแสงสลัว

อาการมักเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน และจะเป็นอยู่นานเป็นชั่วโมง ๆ หรือเป็นวัน ๆ ถึงหลายสัปดาห์ เมื่อหายแล้วอาจกำเริบได้ใหม่

ม่านตาอักเสบแบบเรื้อรัง ผู้ป่วยจะมีอาการตาพร่ามัว ตาแดงเล็กน้อย ปวดตาเล็กน้อย และกลัวแสงเพียงเล็กน้อย มักเป็นนานเกิน 3 เดือนขึ้นไป

นอกจากนี้ สำหรับม่านตาอักเสบที่มีความสัมพันธ์กับโรคอื่น ๆ ก็จะมีอาการของโรคนั้น ๆ ร่วมด้วย เช่น ปวดหลังเรื้อรัง (ถ้าเป็นข้อสันหลังอักเสบเรื้อรัง) ท้องเดินเรื้อรัง (ถ้าเป็นลำไส้อักเสบเรื้อรัง) มีไข้หรือไอเรื้อรัง (ถ้าเป็นวัณโรคปอด) เป็นต้น

ภาวะแทรกซ้อน

ถ้าไม่ได้รับการรักษา อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญ ดังนี้

    ต้อกระจก มักพบในผู้ป่วยที่ปล่อยให้ม่านตาอักเสบเรื้อรังนาน ๆ 
    ต้อหิน เนื่องจากมีการอุดกั้นของทางระบายน้ำเลี้ยงลูกตา ซึ่งอาจเกิดจากมีเม็ดเลือดขาวที่เกิดจากการอักเสบไปอุดกั้น หรือเกิดจากมีพังผืดไปทำให้ทางระบายน้ำเลี้ยงลูกตายึดติดกัน ทำให้ความดันลูกตาเพิ่มสูงขึ้น และกลายเป็นต้อหินตามมา
    ขอบรูม่านตาไม่เรียบ (irregular pupil) เนื่องจากมีพังผืดไปทำให้เกิดการยึดติดกันของม่านตากับกระจกตาหรือเลนส์ตา (แก้วตา)   
    กระจกตาเสื่อม เนื่องจากมีหินปูนพอกกระจกตา ทำให้สายตาพร่ามัว
    น้ำวุ้นลูกตาอักเสบ (vitritis) มีอาการเห็นเงาหยากไย่หรือจุดดำ (floaters) ลอยไปมามากขึ้น โดยการมองเห็นไม่ได้แย่ลง
    จอตาอักเสบ (retinitis) ทำให้สายตาพร่ามัวหรือสูญเสียการมองเห็น
    จุดภาพชัดที่จอตาบวม (macular edema) ทำให้มองเห็นช่วงตรงกลางของภาพไม่ชัดหรือพร่ามัว


การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกาย รวมทั้งการตรวจตา จะพบว่าบริเวณตาขาวที่อยู่ใกล้ขอบตาดำ มีลักษณะแดงเรื่อ ๆ โดยไม่มีขี้ตา แต่อาจมีน้ำตาไหล รูม่านตาอาจมีขนาดเล็กกว่าข้างปกติ มีรูปลักษณ์ผิดแปลกหรือขอบไม่เรียบ กระจกตาอาจมีลักษณะขุ่นเล็กน้อย

แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัด โดยการตรวจวัดสายตา ความดันลูกตา การใช้กล้องจุลทรรศน์ชนิดพิเศษ (slit-lamp ซึ่งสามารถเห็นทั้งภายนอกและภายในดวงตาแบบภาพ 3 มิติ) ส่องตรวจตา

นอกจากนี้ ในรายที่สงสัยว่ามีภาวะหรือโรคที่เป็นสาเหตุร่วมด้วย แพทย์จะทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น ตรวจเลือด (ดูภาวะติดเชื้อ เช่น เอดส์ ซิฟิลิส) เอกซเรย์ (เช่น ตรวจหาวัณโรคปอด ข้อสันหลังอักเสบเรื้อรัง) เป็นต้น

ในรายที่เป็นเรื้อรัง มีอาการเป็น ๆ หาย ๆ บ่อย หรือสงสัยว่ามีความสัมพันธ์กับโรคภูมิต้านตนเอง อาจทำการตรวจเลือดหายีนเอชแอลเอ-บี27 (HLA-B27)


การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะตรวจหาภาวะหรือโรคที่เป็นสาเหตุ และให้การรักษาสาเหตุที่พบ เช่น ให้ยาต้านจุลชีพ (ปฏิชีวนะ/ยาต้านไวรัส) ในรายที่เป็นโรคติดเชื้อ ให้สเตียรอยด์/ยากดภูมิคุ้มกัน ในรายที่เป็นโรคภูมิต้านตนเอง

ส่วนภาวะม่านตาอักเสบ แพทย์จะให้การรักษา ดังนี้

    ให้ยาหยอดตาที่ทำให้รูม่านตาขยาย เพื่อให้ม่านตาได้พักบรรเทาอาการปวด และป้องกันไม่ให้ม่านตาที่อักเสบไปยึดติดกับแก้วตาที่อยู่ข้างหลัง
    ให้สเตียรอยด์ชนิดเป็นยาหยอดตา เพื่อลดการอักเสบ หากไม่ได้ผลหรือมีอาการกำเริบบ่อย ก็จะให้สเตียรอยด์ชนิดกิน หรือให้ยากดภูมิคุ้มกัน (immunosuppressant)   

ผลการรักษา การรักษาแต่เนิ่น ๆ จะช่วยให้โรคทุเลาและป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้ ส่วนใหญ่อาจต้องใช้เวลารักษาเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือนจนกว่าอาการจะทุเลาดี

สำหรับม่านตาอักเสบที่เกิดจากการบาดเจ็บ มักจะค่อย ๆ หายไปได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ ในรายที่เกิดจากการติดเชื้อ อาการจะทุเลาหลังจากได้รับการรักษาด้วยยาต้านจุลชีพ (ยาปฏิชีวนะหรือยาต้านไวรัส)

บางรายอาจมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ นานเป็นแรมเดือนแรมปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายที่เกิดจากโรคภูมิต้านตนเอง (เช่น ข้อสันหลังอักเสบเรื้อรัง) แพทย์จะให้ยาหยอดตาสเตียรอยด์ไว้ประจำที่บ้าน และแนะนำว่าเมื่อมีอาการกำเริบใหม่ ให้ใช้หยอดตาทันทีแล้วค่อยไปพบแพทย์


การดูแลตนเอง

หากสงสัยเป็นม่านตาอักเสบ (มีอาการปวดตา ตาแดง และตามัว) ควรปรึกษาแพทย์ด่วน

เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคนี้ ควรดูแลตนเอง ดังนี้

    รักษา ใช้ยา ปฏิบัติตัว และติดตามการรักษาตามที่แพทย์แนะนำ
    ประคบตาด้วยน้ำอุ่นจัด ๆ วันละ 3-4 ครั้ง นานครั้งละ 20 นาที
    สวมแว่นตาดำ หากมีอาการปวดตามากขึ้นเวลาถูกแสงสว่าง
    ถ้าปวดตามาก กินพาราเซตามอลบรรเทาปวด

ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    ดูแลรักษาแล้วอาการไม่ทุเลา 
    มีอาการปวดตารุนแรง ตาแดงหรือตามัวมากขึ้น
    ขาดยา ยาหาย หรือกินยาไม่ได้ หรือมีอาการที่สงสัยว่าเป็นผลข้างเคียงจากยาหรือแพ้ยา

การป้องกัน

เนื่องจากโรคนี้ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ จึงยังไม่มีวิธีป้องกันที่ได้ผลดี

สำหรับส่วนที่มีสาเหตุ เช่น การบาดเจ็บ โรคติดเชื้อ (เช่น เริม งูสวัด วัณโรคปอด ซิฟิลิส) โรคภูมิต้านตนเอง (เช่น ข้อสันหลังอักเสบเรื้อรัง โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง โรคโซริอาซิส) เป็นต้น ก็อาจป้องกันไม่ให้ม่านตาอักเสบกำเริบด้วยการป้องกันและควบคุมภาวะเหล่านี้


ข้อแนะนำ

1. อาการปวดตาและตาแดง อาจมีสาเหตุที่ไม่รุนแรง เช่น เยื่อตาขาวอักเสบ หรืออาจมีสาเหตุที่รุนแรง เช่น ต้อหิน แผลกระจกตา ม่านตาอักเสบ เราอาจวินิจฉัยแยกกลุ่มโรคที่รุนแรงออกจากกลุ่มที่ไม่รุนแรงได้ โดยการตรวจพบว่า กลุ่มโรคที่รุนแรงจะมีอาการปวดตามาก ตามัว รูม่านตา 2 ข้างไม่เท่ากัน หรือกระจกตาขุ่นหรือเป็นฝ้าขาว หากพบอาการอย่างใดอย่างหนึ่งดังกล่าว ควรปรึกษาแพทย์ด่วน (ตรวจอาการ ตามัว/ตาฝ้าฟาง/มองเห็นเงาหรือภาพผิดปกติ/เห็นภาพซ้อน และ ปวดตา/เจ็บตา เพิ่มเติม)

2. ผู้ป่วยควรดูแลรักษากับแพทย์อย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่มีอาการปวดตาและตามัวอย่างฉับพลัน ควรได้รับการรักษาจากจักษุแพทย์ภายใน 24 ชั่วโมง จะช่วยให้โรคทุเลาดี และป้องกันภาวะแทรกซ้อนและการสูญเสียการมองเห็น (ตาบอดอย่างถาวร)

นอกจากนี้ ผู้ป่วยไม่ควรใช้ยาพร่ำเพรื่อเกินที่แพทย์แนะนำ หรือหยุดยาเองตามใจชอบ หรือซื้อยามาใช้เอง และไม่ควรนำยาที่แพทย์สั่งให้ใช้ไปให้ผู้อื่นใช้ เนื่องจากยาเหล่านี้ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาสเตียรอยด์) อาจมีผลข้างเคียง (เช่น ต้อหิน ต้อกระจก) หรือเกิดผลแทรกซ้อนที่ร้ายแรงได้หากใช้ไม่ถูกต้อง