จัดฟันบางนา: ฟันบิ่น เกิดจากสาเหตุอะไร ปัญหาที่ต้องดูแลฟันบิ่น ทำให้เราเสียบุคลิก มองดูแล้วไม่สวยงาม การรักษาฟัน บิ่น แตก หลุด ในส่วนที่เกี่ยวกับฟันโดยตรงเท่านั้น ในรายที่ฟันบิ่นเพียงเล็กน้อย เฉพาะที่บริเวณชั้นเคลือบฟัน ในกรณี ถ้าการบิ่นนั้นไม่มากจนเป็นที่เห็นชัดเจนก็อาจปล่อยไว้ได้ ซึ่งโดยทั่วไปชั้นเคลือบฟันไม่หนามากอยู่แล้ว การบิ่นเฉพาะชั้นเคลือบฟันจึงมองไม่ค่อยเห็นโดยตรง ในรายที่บิ่นถึงชั้นเนื้อฟันข้างในจะมีอาการเสียวฟันมาก
เนื่องจากไม่มีเคลือบฟันมาปกคลุมชั้นเนื้อฟัน ทำให้เนื้อฟันสัมผัสกับการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ ความเข้มข้นของสารต่างๆ ในปาก และถ่ายทอดความรู้สึกไปที่ประสาทฟัน จึงรู้สึกเสียวได้ ในกรณีนี้จำเป็นต้องรักษาโดยการใส่ยาปิดเนื้อฟันไม่ให้มาสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมในปาก หรือแม้กระทั่งการอุดฟัน มิฉะนั้น นอกจากจะเสียวฟันแล้ว ยังมีปัญหาเรื่องความสวยงามเพราะจะเห็นได้ชัดเนื่องจากบิ่นมาก และถ้าปล่อยไว้อาจเป็นจุดของการสะสมเชื้อในปาก และเกิดฟันผุลุกลามไปที่โพรงประสาทฟันในที่สุด
ในรายที่ฟันบิ่น ไม่ว่าจะในชั้นเคลือบฟัน หรือเนื้อฟัน ถ้าแรงกระแทกรุนแรงมาก อาจไปกระเทือนถึงโพรงประสาทฟัน ทำให้ฟันตายโดยที่ฟันไม่ผุ และเป็นสาเหตุหนึ่งให้ฟันมีสีดำคล้ำได้ด้วย เนื่องจากเส้นเลือดภายในโพรงประสาทฟันแตก เลือดออกภายในและสะท้อนออกมาให้เห็นเป็นสีดำคล้ำด้วย ในกรณีนี้อาจต้องรับการรักษารากฟัน เพื่อเก็บฟันก่อนที่จะอุดฟันให้ถาวรต่อไป
ในปัจจุบัน มีวัสดุอุดฟันหลายชนิดที่มีสีเหมือนฟัน และมีคุณสมบัติดีทนทานใช้ในการอุดฟันบิ่นได้ผลดีจนแลดูไม่ออกว่าเป็นฟันอุด แต่ต้องระวังไม่ใช่ใช้พลาสติกสีขาวที่ใช้ทำฟันปลอมมาอุด เพราะสีจะเปลี่ยนได้ง่ายและแตกหลุดได้ ซึ่งมีผู้รู้เท่าไม่ถึงการณ์มักนำไปอุดฟันให้ชาวบ้านที่อยู่ในชนบท ซึ่งจะเกิดผลร้ายตามมาในภายหลัง
อาการฟันบิ่น
ผู้ป่วยอาจไม่รู้สึกถึงความผิดปกติของฟันหากมีรอยบิ่นเพียงเล็กน้อย หรือรอยบิ่นนั้นไม่ได้เกิดขึ้นบริเวณฟันหน้า แต่สำหรับผู้ที่มีอาการ อาจสังเกตได้จากความขรุขระของผิวฟันเมื่อใช้ลิ้นสัมผัส การระคายเคืองของเหงือกรอบ ๆ บริเวณที่เกิดฟันบิ่น การระคายเคืองของลิ้นจากการสัมผัสขอบฟันที่สากและขรุขระ มีอาการเจ็บเมื่อเคี้ยวอาหารหรือกัดฟัน และอาจรู้สึกปวดมากหากฟันที่บิ่นอยู่ใกล้เส้นประสาทฟัน
สาเหตุของฟันบิ่น
ฟันบิ่นเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยมีตัวอย่างสาเหตุที่พบทั่วไป เช่น การกัดของที่มีลักษณะแข็งอย่างน้ำแข็งหรือลูกอม การหกล้มหรือการเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ การเล่นกีฬาที่ต้องปะทะกันโดยไม่ได้ใส่ฟันยางป้องกัน การนอนกัดฟัน เป็นต้น
ทั้งนี้ ฟันที่อ่อนแอมักเสี่ยงเกิดรอยบิ่นได้มากกว่าฟันที่แข็งแรง โดยมีปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้ฟันอ่อนแอหรือส่งผลให้เคลือบฟันเสียหายได้ เช่น ฟันผุ การอุดโพรงฟันขนาดใหญ่ การรับประทานอาหารที่มีกรดสูงอย่างน้ำผลไม้ กาแฟ และอาหารรสจัด ภาวะกรดไหลย้อนหรืออาการแสบร้อนกลางอก กลุ่มโรคการกินผิดปกติอย่างโรคคลั่งผอม (Anorexia) และโรคล้วงคอ (Bulimia) การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปจนมักทำให้อาเจียนออกมาบ่อยครั้ง ซึ่งจะทำให้กรดในกระเพาะอาหารย้อนออกมาทางปากและทำลายเคลือบฟัน การสะสมของแบคทีเรียที่เกิดจากน้ำตาล และอายุที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เคลือบฟันเสื่อมสภาพตามกาลเวลา เป็นต้น
การป้องกันฟันบิ่น
ทันตแพทย์สามารถช่วยป้องกันฟันบิ่นได้ โดยการทำยางป้องกันฟัน ซึ่งต้องทำเฉพาะตัวของแต่ละคน โดยต้องให้กระชับกับฟันที่แตกต่างกันไปในแต่ละคน ใช้วัสดุผสมที่คล้ายพลาสติกแต่มีความหยุ่นแบบยาง ทำเฉพาะสำหรับฟันบนทั้งหมดให้คลุมตัวฟันบนทุกซี่ และมีความหนาพอสมควร ยางป้องกันฟันนี้จะใส่ได้กระชับกว่ายางกัดของนักมวยโดยทั่วไป จึงไม่หลุดได้ง่าย และทำหน้าที่ป้องกันอุบัติเหตุให้กับฟันได้ดีกว่า ซึ่งในต่างประเทศได้กำหนดให้นักกีฬาที่มีความเสี่ยงสูง เช่น นักมวย นักฟุตบอลอเมริกัน นักรักบี้ ต้องใส่ยางป้องกันฟันนี้ในขณะเล่นหรือซ้อมกีฬาเป็นประจำ ซึ่งได้ผลในการป้องกันฟันบิ่น แตกหัก หลุดได้อย่างดี
การป้องกันอีกวิธีหนึ่ง คือ การใช้ฟันให้ถูกกับหน้าที่ ไม่ใช้บดเคี้ยวของแข็งเกินไป และต้องคอยระมัดระวังอุบัติเหตุบริเวณใบหน้าและขากรรไกร เช่น การใส่หมวกกันน็อกในขณะขับขี่จักรยานยนต์ ซึ่งนอกจากจะใส่ส่วนที่เป็นหมวก สำหรับป้องกันอุบัติภัยบริเวณศีรษะแล้ว การผูกรัดส่วนใต้คางก็เป็นการป้องกันอุบัติภัยบริเวณฟันและขากรรไกรได้อย่างดีด้วย