ตรวจสุขภาพ: นิ่วกระเพาะปัสสาวะ (Vesical calculus/Bladder stone)นิ่วกระเพาะปัสสาวะ (นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ก็เรียก) เป็นโรคที่พบได้บ่อยทางภาคอีสานและภาคเหนือ พบได้ในคนทุกวัย แต่จะพบมากในเด็กผู้ชายอายุต่ำกว่า 10 ปีในหมู่ชาวชนบทที่ยากจน ทั้งนี้มีความเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมการบริโภคอาหารของประชาชนในท้องถิ่นเหล่านี้ (เช่น การป้อนข้าวเหนียวหรือข้าวย้ำแก่ทารกเล็ก ๆ โดยได้รับอาหารโปรตีนจำนวนน้อย)
สาเหตุ
จากการศึกษาของศูนย์วิจัยคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี พบว่านิ่วกระเพาะปัสสาวะที่พบในภาคอีสานและภาคเหนือ มีสาเหตุจากการขาดสารฟอสเฟต ซึ่งมีมากในอาหารประเภทโปรตีน ร่วมกับการกินผักที่มีสารออกซาเลต (oxalate) สูง และดื่มน้ำน้อย ทำให้มีการสะสมของผลึกของสารแคลเซียมออกซาเลตในกระเพาะปัสสาวะ จนกลายเป็นก้อนนิ่วในที่สุด
นอกจากสาเหตุดังกล่าวแล้ว ในคนทั่วไปยังอาจพบนิ่วกระเพาะปัสสาวะร่วมกับภาวะอุดกั้นของท่อปัสสาวะ ต่อมลูกหมากโต กระเพาะปัสสาวะหย่อน (cystocele) กระเพาะปัสสาวะไม่ทำงานเนื่องจากเป็นอัมพาต (neurogenic bladder) เป็นต้น
ก้อนนิ่วอาจมีขนาดแตกต่างกันไปตั้งแต่ขนาดเท่าเม็ดทรายจนถึงส้มโอ
อาการ
เนื่องจากก้อนนิ่วลงไปอุดกั้นท่อปัสสาวะ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการขัดเบา ปัสสาวะกะปริดกระปรอย ปวดเบ่งคล้ายว่ายังถ่ายไม่สุด ปัสสาวะสะดุดและออกเป็นหยด
บางรายอาจปัสสาวะออกเป็นเลือดหรือสีน้ำล้างเนื้อ หรืออาจถ่ายเป็นก้อนนิ่ว หรือเม็ดกรวดทรายเล็ก ๆ หรือปัสสาวะขุ่นขาวเหมือนมีผงแป้งปน
ถ้าก้อนนิ่วตกลงไปอุดกั้นท่อปัสสาวะ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้องน้อยมาก ปัสสาวะไม่ออก และมีปัสสาวะคั่งอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ
ภาวะแทรกซ้อน
มักทำให้มีอาการอักเสบของกระเพาะปัสสาวะจากการติดเชื้อ ซึ่งถ้าปล่อยไว้เรื้อรังอาจกลายเป็นกรวยไตอักเสบและไตวายได้
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกาย
การตรวจร่างกายมักจะไม่พบสิ่งผิดปกติ ยกเว้นบางรายอาจพบปัสสาวะมีลักษณะเป็นเลือดหรือสีน้ำล้างเนื้อ
แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการเอกซเรย์ ตรวจอัลตราซาวนด์ และถ้าจำเป็นอาจต้องใช้กล้องส่องตรวจกระเพาะปัสสาวะ (cystoscopy)
การรักษาโดยแพทย์
นอกจากแนะนำการปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วยแล้ว แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้
1. แพทย์จะนำเอานิ่วออก ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งดังนี้
การใช้กล้องส่องผ่านท่อปัสสาวะ (transurethral cystolitholapaxy) เข้าไปในกระเพาะปัสสาวะ ใช้เครื่องมือทำให้นิ่วแตกละเอียดแล้วให้ปัสสาวะชะออกมา
การใช้เครื่องสลายนิ่ว (extracorporeal shock wave lithotripsy/ESWL)
การผ่าตัด สำหรับนิ่วก้อนใหญ่หรือใช้วิธีอื่นไม่ได้ผล
2. ในรายที่มีสาเหตุชัดเจน ก็จะให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ เช่น ต่อมลูกหมากโต กระเพาะปัสสาวะหย่อน (cystocele)
ผลการรักษา เมื่อเอานิ่วออกมาได้ก็จะหายเป็นปกติ แต่ในรายที่มีสาเหตุของการเกิดนิ่วแล้วไม่ได้แก้ไข ก็อาจเกิดนิ่วก้อนใหม่ในเวลาต่อมาได้
การดูแลตนเอง
หากสงสัย เช่น มีอาการขัดเบา ปัสสาวะกะปริดกะปรอย ปัสสาวะสะดุดและออกเป็นหยด ปัสสาวะออกเป็นเลือดหรือสีน้ำล้างเนื้อ ถ่ายเป็นก้อนนิ่ว หรือเม็ดกรวดทรายเล็ก ๆ หรือปัสสาวะขุ่นขาวเหมือนมีผงแป้งปน ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นนิ่วกระเพาะปัสสาวะ ควรดูแลตนเอง ดังนี้
รักษา กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
ติดตามรักษากับแพทย์ตามนัด
ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
ดูแลรักษาแล้วอาการไม่ทุเลา
มีอาการไข้ ขัดเบา ปัสสาวะกะปริดกะปรอย หรือปัสสาวะขุ่นหรือเป็นเลือด
ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน ถ้ากินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
การป้องกัน
รับประทานอาหารประเภทโปรตีน (เช่น เนื้อสัตว์ นม ไข่ ถั่วต่าง ๆ) ซึ่งมีปริมาณของสารฟอสเฟตสูง
ลดการกินผักที่มีสารออกซาเลต (เช่น ผักแพว ผักโขม ชะพลู ใบมันสำปะหลัง หน่อไม้ ผักสะเม็ด ผักกะโดน เป็นต้น)
ดื่มน้ำมาก ๆ ประมาณวันละ 8-12 แก้ว (2-3 ลิตร) ระวังอย่าให้ร่างกายขาดน้ำ
รักษาโรคหรือภาวะที่เป็นสาเหตุของนิ่วกระเพาะปัสสาวะ เช่น ต่อมลูกหมากโต กระเพาะปัสสาวะหย่อน เป็นต้น
ข้อแนะนำ
อาการขัดเบาหรือถ่ายปัสสาวะเป็นเลือด นอกจากนิ่วแล้วยังอาจมีสาเหตุอื่น ๆ เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ต่อมลูกหมากโต เนื้องอกหรือมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น (ตรวจอาการ "ปัสสาวะลำบาก/ปัสสาวะไม่ออกหรือออกน้อย/ปัสสาวะขัด/ปัสสาวะบ่อย") และ (ตรวจอาการ "ปัสสาวะขุ่น/มีสีผิดปกติ") เพิ่มเติม