COVID-19! OMICRON ทำไมถึงต้องจับตามอง?
โควิดสายพันธุ์ย่อย BA.4/BA.5 เป็นเชื้อกลายพันธุ์ของโควิดสายพันธุ์โอมิครอนที่กำลังมาแรง พบผู้ติดเชื้อรายแรกในแถบแอฟริกา เมื่อช่วงเดือนมกราคม 2022 ในปัจจุบันพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว พบการแพร่ระบาดทั่วโลกโดยในทวีปแอฟริกาและทวีปยุโรปเกือบทั้งหมดของผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่
องค์กรอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศให้สายพันธุ์ BA.4/BA.5 เป็นสายพันธุ์ย่อยที่ต้องเฝ้าระวัง (VOC) และคาดว่าจะกลายเป็นสายพันธุ์หลักของการแพร่ระบาดทั่วโลก
สาเหตุที่ต้องเฝ้าระวังของสายพันธุ์ BA.4/BA.5 คือ สายพันธุ์นี้มีการกลายพันธุ์ในตำแหน่ง L452R ซึ่งเป็นตำแหน่งเดียวกันกับสายพันธุ์เดลตา (Delta) เชื้อไวรัสมีความสามารถในการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนในเซลล์ปอดได้ดี ซึ่งอาจก่อให้เกิดอาการปอดอักเสบในผู้ติดเชื้อ แตกต่างจากสายพันธุ์ BA.1 / BA.2 ที่เชื้อมีความสามารถในการแบ่งตัวได้ดีในเซลล์ของเยื่อบุระบบทางเดินหายใจส่วนบน
สายพันธุ์ย่อย BA.4/BA.5 ยังมีความสามารถในการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกัน ดื้อต่อแอนติบอดี้ของมนุษย์ นั่นจึงเป็นสาเหตุให้เกิดการติดเชื้อซ้ำ (Re-infection) แม้ว่าจะเคยติดเชื้อหรือฉีดวัคซีนมาแล้วก็ตาม
โอมิครอน BA.4 / BA.5 ทำไมต้องเฝ้าระวัง!
แบ่งตัวเพิ่มจำนวนได้ดีในเซลล์ปอด อาจจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดปอดอักเสบ
แพร่ระบาดได้ง่าย และรวดเร็วยิ่งขึ้นกว่าเดิม
หลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันเก่ง เคยติดเชื้อหรือฉีดวัคซีนแล้วก็ติดเชื้อซ้ำได้ (วัคซีนได้ผลน้อยลง)
จุดเด่นของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน คือ การแพร่เชื้อได้เร็ว (High transmissibility) กว่าสายพันธุ์อื่น 5 เท่า โดยอาการของโควิดสายพันธุ์ BA.4/BA.5 ไม่แตกต่างอย่างชัดเจนจากสายพันธุ์โอมิครอน อาการที่เด่นชัดของสายพันธุ์นี้ได้แก่ “อ่อนเพลีย เหนื่อย, ไอแห้ง, เจ็บคอ, ไข้, มีน้ำมูก, ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ ปวดเมื่อยตามร่างกาย และถ่ายเหลว”
กราฟแสดงอาการของผู้ติดเชื้อโควิด เปรียบเทียบระหว่างสายพันธุ์ BA.4/BA.5 และ BA.1
จากข้อมูลการสำรวจผู้ติดเชื้อโควิด (สำนักงานสาธารณสุข ประเทศฝรั่งเศส ข้อมูล ณ วันที่ 18 พ.ค. 2022) เปรียบเทียบอาการระหว่างสายพันธุ์ย่อย BA.4/BA.5 กับสายพันธุ์ย่อย BA.1 พบว่า อาการที่พบส่วนใหญ่มากกว่าร้อยละ 50 ของผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ BA.4/BA.5 จะมีอาการอ่อนเพลีย เมื่อยล้า ไอ และมีไข้ รองลงมาคือ อาการ เจ็บคอ มีน้ำมูก ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ครั่นเนื้อครั่นตัว ตามลำดับ
นอกจากนี้ ยังคงพบอาการของการสูญเสียการได้กลิ่นและการรับรส พบอาการผิดปกติเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร กลุ่มอาการของระบบทางเดินหายใจ หายใจถี่ หายใจลำบาก และกลุ่มอาการนอกระบบที่ไปคล้ายกันกับสายพันธุ์เดลตาได้เช่นกัน
แนวโน้มของผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ย่อย BA.4/BA.5 ทั่วโลก ยังคงมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของความรุนแรงของสายพันธุ์นี้ยังไม่สามารถสรุปได้ว่ารุนแรงมากน้อยขนาดไหน แต่จากคุณสมบัติในการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว และความสามารถในการเชื่อมต่อผนังเซลล์ จากหลายเซลล์มาเป็นเซลล์เดียวกัน (Multinucleated Syncytial Pneumocytes) อาจจะทำให้เกิดอาการที่รุนแรงกว่าโอมิครอนสายพันธุ์เดิมได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องจับตามองกันต่อไป
อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีน รวมถึงการรับวัคซีนเข็มกระตุ้น “ยังคงเป็นสิ่งจำเป็น” เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันให้ร่างกายต่อสู้กับเชื้อได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเสี่ยง ผู้ที่มีโรคประจำตัว ผู้สูงอายุ ซึ่งจะมีโอกาสเสี่ยงเกิดโรครุนแรง หรือมีอาการปอดอักเสบได้หากเกิดการติดเชื้อสายพันธุ์ย่อยนี้
การป้องกันตนเอง ก็ยังสามารถช่วยป้องกันความเสี่ยงจากการติดเชื้อได้ โดยควรสวมหน้ากากอนามัย เมื่อต้องเดินทางไปในสถานที่แออัด หรือสถานที่อับอากาศ หมั่นล้างมือบ่อยๆ หลังสัมผัสสิ่งของหรือจุดสัมผัสสาธารณะ หรือเมื่อใดก็ตามที่รู้สึกว่ามือของตนเองสกปรก
สำหรับผู้ที่สัมผัสเสี่ยงสูง หรือมีอาการเสี่ยงติดเชื้อ แนะนำให้ตรวจ ATK ด้วยตนเอง โดยควรเลือก ATK ที่ได้รับมาตรฐาน และมีค่าความไว (Sensitivity) และค่าความจำเพาะ (Specificity) ไม่ต่ำกว่า 90%
ศูนย์ข้อมูลโควิด-19: โอมิครอน BA.4 / BA.5 สายพันธุ์ที่ต้องจับตา ติดเชื้อง่าย ไวกว่าเดิม อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com/covid-19