ผู้เขียน หัวข้อ: ข้อมูลโรคภาวะเหงื่อออกมากโดยไม่ทราบสาเหตุ (Primary hyperhidrosis)  (อ่าน 141 ครั้ง)

siritidaphon

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 1130
  • จำหน่ายเครื่องจักรอุตสาหกรรมและสินค้าอุตสาหกรรม
    • ดูรายละเอียด
ข้อมูลโรคภาวะเหงื่อออกมากโดยไม่ทราบสาเหตุ (Primary hyperhidrosis)

ภาวะเหงื่อออกมากโดยไม่ทราบสาเหตุ หมายถึง ภาวะเหงื่อออกมากที่ไม่ทราบสาเหตุชัดเจน* ผู้ป่วยจะมีอาการเหงื่อออกที่บริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า รักแร้ ใบหน้า แม้อยู่เฉย ๆ หรือในที่อากาศเย็น ซึ่งมักมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรังมาตั้งแต่อายุน้อย

ภาวะนี้พบมากในวัยรุ่นและคนอายุน้อยกว่า 25 ปี และมักมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ด้วย

*คนทั่วไปมักมีเหงื่อออกมากตามจุดต่าง ๆ ทั่วร่างกาย เมื่ออยู่ในที่อากาศร้อน หลังการออกกำลังกายหรือใช้แรงมาก กินอาหารเผ็ดร้อน มีความเครียด ตื่นเต้น ตกใจ มีไข้สูง เป็นโรคหรือภาวะบางอย่าง (เช่น มีภาวะช็อก ต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกิน วัณโรค มะเร็งต่อมน้ำเหลือง เบาหวาน โรคพาร์กินสัน โรคของหญิงวัยหมดประจำเดือน ภาวะตั้งครรภ์ ภาวะอ้วน) การใช้ยาบางชนิด เป็นต้น เรียกว่า ภาวะเหงื่อออกมากชนิดทุติยภูมิ (secondary generalized hyperhidrosis)
ส่วนภาวะเหงื่อออกมากโดยไม่ทราบสาเหตุ (primary hyperhidrosis/primary focal hyperhidrosis) มักมีเหงื่อออกเฉพาะที่ ส่วนใหญ่พบที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า รักแร้ แต่ก็อาจพบที่บริเวณใบหน้า หนังศีรษะ

สาเหตุ

เกิดจากเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงต่อมเหงื่อถูกกระตุ้นมากเกินไป ส่งผลให้ต่อมเหงื่อหลั่งเหงื่อออกมามากผิดปกติ ซึ่งเป็นผลมาจากพันธุกรรมผิดปกติที่ถ่ายทอดมาจากพ่อแม่

อาการ

มีอาการเหงื่อออกมากโดยไม่มีสาเหตุ แม้แต่อยู่เฉย ๆ (ไม่ได้ทำอะไร) จิตใจสบาย (ไม่มีความเครียด ตกใจ กลัว หรือกังวล) หรืออยู่ในที่อากาศเย็น ก็มีอาการขึ้นมาได้ ซึ่งมักเป็นช่วงกลางวันในเวลาใดก็ได้ จะไม่มีอาการขณะนอนหลับ อาการจะเกิดขึ้นเป็นบางวัน อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง อาการมักจะเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรังนานเกิน 6 เดือนขึ้นไป

ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการเหงื่อออกที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า รักแร้ ใบหน้า หนังศีรษะ พร้อมกัน 2-3 บริเวณ โดยมีเหงื่อออกเหมือนกันทั้ง 2 ข้างของร่างกาย เช่น ฝ่ามือ 2 ข้างกับฝ่าเท้า 2 ข้าง, ฝ่ามือ 2 ข้าง รักแร้ 2 ข้าง และฝ่าเท้า 2 ข้าง เป็นต้น ส่วนน้อยอาจมีเหงื่อออกมากเพียงบริเวณใดบริเวณหนึ่ง เช่น ฝ่ามือ 2 ข้าง, ฝ่าเท้า 2 ข้าง, รักแร้ 2 ข้าง เป็นต้น

ผู้ป่วยอาจมีเหงื่อออกมากจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การเขียนหนังสือ การทำงาน การขับรถ การหยิบจับของ หนังสือ เอกสาร หรือเครื่องดนตรี การจับมือทักทาย การไม่กล้าเข้าใกล้ผู้อื่นเพราะมีกลิ่นตัว การเปลี่ยนเสื้อผ้าหรือถุงเท้าที่ชุ่มเหงื่อบ่อยกว่าปกติ เป็นต้น

อาการเหงื่อออกของผู้ป่วยอาจเป็นมากขึ้นจากการออกกำลังกาย ความเครียด หรือความวิตกกังวล

ภาวะแทรกซ้อน

อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ทั้งทางร่างกายและจิตใจ อาทิ

    ผิวหนังบริเวณที่มีเหงื่อหมักหมมมีการติดเชื้อรา (เช่น โรคเชื้อราที่เท้าหรือฮ่องกงฟุต) ไวรัส (เช่น โรคหูด) หรือแบคทีเรีย (เช่น ฝี พุพอง)
    มีกลิ่นตัวที่เกิดจากเหงื่อปะปนกับสารที่แบคทีเรียสร้างขึ้นบนผิวหนัง ซึ่งมักพบที่บริเวณรักแร้และเท้า
    ส่งผลต่อจิตใจและการเข้าสังคม เช่น รู้สึกอับอาย ขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง กระทบต่อการมีความสัมพันธ์กับคนรอบข้างหรือหลีกหนีสังคม กระทบต่อหน้าที่การงานหรือการเรียน บางรายอาจเกิดภาวะวิตกกังวลหรือซึมเศร้า

การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกายเป็นหลัก ซึ่งจะตรวจพบว่ามีเหงื่อชุ่มหรือออกเป็นหยดบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า รักแร้ ใบหน้า และ/หรือหนังศีรษะ

ในรายที่วินิจฉัยไม่ได้แน่ชัด หรือสงสัยเป็นภาวะเหงื่อออกมากชนิดทุติยภูมิ แพทย์จะทำการตรวจเพิ่มเติม (ตรวจเลือด ปัสสาวะ หรืออื่น ๆ) เพื่อหาสาเหตุ เช่น ต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกิน ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เบาหวาน เป็นต้น

การรักษาโดยแพทย์

1. ในรายที่มีอาการไม่มาก ไม่มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน แพทย์จะอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจถึงโรคนี้ และแนะนำวิธีให้ผู้ป่วยปฏิบัติตัวในการดูแลตนเอง

2. ในรายที่มีอาการมาก มีผลกระทบต่อจิตใจหรือการใช้ชีวิตประจำวัน แพทย์จะให้การรักษาด้วยยาหรือวิธีต่าง ๆ โดยเลือกใช้ตามความเหมาะสมของผู้ป่วย ดังนี้

    การใช้ผลิตภัณฑ์ระงับเหงื่อ (antiperspirants) ซึ่งมีส่วนผสมของสารอะลูมิเนียมคลอไรด์ ทาบริเวณที่มีเหงื่อออกมากตอนก่อนนอน และล้างออกตอนเช้า ควรระวังอย่าให้เข้าตา และอาจระคายเคืองผิวหนังได้ ยานี้จะได้ผลหลังใช้นาน 2-4 สัปดาห์ หลังหยุดยาอาการมักกลับมากำเริบใหม่ได้อีก
    การใช้ยากลุ่มแอนติโคลิเนอร์จิก (anticholinergic) ซึ่งมีฤทธิ์ระงับการทำงานของเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงต่อมเหงื่อ ทำให้เหงื่อออกน้อยลง มียาทั้งชนิดทา (เช่น glycopyrrolate bromide) และชนิดกิน (เช่น propantheline bromide) สำหรับชนิดกิน อาจมีผลข้างเคียง (เช่น ปากแห้ง ตาพร่ามัว ปัสสาวะลำบาก ท้องผูก)
    การใช้ยาต้านซึมเศร้า ช่วยลดอาการเหงื่อออก และช่วยลดความวิตกกังวล (ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่กระตุ้นให้มีเหงื่อออกมากขึ้น)
    การฉีดโบท็อกซ์หรือสารโบทูลินัม (Botox หรือ botulinum toxin) ระงับการทำงานของเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงต่อมเหงื่อ ทำให้เหงื่อออกน้อยลง ซึ่งมักจะต้องฉีดซ้ำประมาณทุก 6 เดือน ยานี้อาจมีผลข้างเคียง ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณที่ฉีดยาอ่อนแรงชั่วคราว
    สำหรับผู้ป่วยที่ให้การรักษาดังกล่าวไม่ได้ผล แพทย์จะทำการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น การรักษาด้วยวิธีไอออนโทฟอเรซิส (Iontophoresis โดยการใช้กระแสไฟฟ้าพลังงานต่ำช่วยส่งผ่านน้ำหรือยาเข้าสู่ผิวหนังบริเวณต่อมเหงื่อที่มีอาการ ทำให้ต่อมเหงื่อทำงานลดลง อาจต้องให้การรักษาซ้ำทุก 1 เดือน เพื่อป้องกันไม่ให้อาการกลับมาอีก), การรักษาด้วยคลื่นไมโครเวฟ (microwave therapy เพื่อทำลายต่อมเหงื่อที่บริเวณรักแร้), การขจัดเอาต่อมเหงื่อออกไป (sweat gland removal) โดยการใช้เครื่องมือแพทย์ทำการขูด (curettage) หรือดูด (liposuction) เอาต่อมเหงื่อที่ผิดปกติออกไป วิธีนี้เหมาะสำหรับการรักษาต่อมเหงื่อบริเวณรักแร้ที่ผิดปกติ, การตัดเส้นประสาทไขสันหลังที่ควบคุมการทำงานของต่อมเหงื่อ (endoscopic thoracic sympathectomy/ETS) ซึ่งได้ผลดีในการรักษาภาวะเหงื่อออกมากที่มือและรักแร้ แต่อาจมีผลข้างเคียง คือมีเหงื่อออกมากในบริเวณอื่น (เช่น หลัง ท้อง ต้นขา ปลายขา) แทน เรียกว่า “ภาวะเหงื่อออกทดแทน (compensatory sweating)”

ผลการรักษา การรักษาด้วยยาและวิธีต่าง ๆ ส่วนใหญ่เป็นการช่วยลดอาการเพียงชั่วคราว เมื่อหยุดยาหรือเว้นการรักษา ก็มักจะมีอาการกำเริบได้ใหม่ ต้องติดตามดูแลรักษาเป็นระยะ เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ลดภาวะแทรกซ้อนทางร่างกายและจิตใจ ในรายที่การรักษาด้วยวิธีต่าง ๆ ไม่ได้ผล แพทย์จะทำการรักษาด้วยการผ่าตัดหรือวิธีทำลายหรือขจัดต่อมเหงื่อ ซึ่งมักได้ผลดี แต่อาจมีผลแทรกซ้อนตามมาได้ (เช่นเลือดออก แผลติดเชื้อ แผลเป็น ภาวะเหงื่อออกทดแทน)

การดูแลตนเอง

หากสงสัย เช่น มีอาการเหงื่อออกมากที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า รักแร้ ใบหน้า และ/หรือศีรษะ ควรปรึกษาแพทย์

เมื่อตรวจพบว่าเป็นภาวะเหงื่อออกมากโดยไม่ทราบสาเหตุ ควรดูแลรักษาและติดตามการรักษาตามที่แพทย์แนะนำ และปฏิบัติตัว ดังนี้

    ใช้ยา รวมทั้งผลิตภัณฑ์ระงับเหงื่อ (antiperspirants), ยาดับกลิ่น (deodorant) ตามที่แพทย์แนะนำ 
    อาบน้ำและฟอกสบู่ให้สะอาดอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง และเมื่อมีเหงื่อออกมาก เช็ดตัวให้แห้ง โดยเฉพาะบริเวณรักแร้และเท้า
    สวมใส่เสื้อผ้าที่หลวม และระบายเหงื่อได้ดี เช่น ผ้าฝ้าย 100%
    มีเสื้อผ้าและถุงเท้าสำรองติดตัว ไว้เปลี่ยนเวลามีเหงื่อออกมาก
    หมั่นรักษารองเท้าให้แห้งและสะอาด หรือใส่รองเท้าหัวเปิด และถอดรองเท้าบ่อย ๆ เมื่อมีโอกาส เพื่อไม่ให้เท้ามีเหงื่อหมักหมม

ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด เมื่อเหงื่อออกมากขึ้น มีเหงื่อออกมากผิดปกติตอนกลางคืน สงสัยว่าอาจเป็นภาวะเหงื่อออกมากชนิดทุติยภูมิ หรือมีความวิตกกังวล

การป้องกัน

โรคนี้ยังไม่มีวิธีป้องกัน เนื่องจากเกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม

การรักษาและปฏิบัติตัวในการดูแลตนเองอย่างจริงจัง จะช่วยให้เหงื่อออกน้อยลง และป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ

ข้อแนะนำ

1. ผู้ป่วยควรศึกษาให้เข้าใจถึงธรรมชาติของโรคนี้ ซึ่งเกี่ยวข้องกับปัจจัยทางพันธุกรรม และแม้ว่าโรคนี้ไม่สามารถหาทางป้องกันและรักษาให้หายขาดได้ แต่ก็ไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงใด ๆ การเรียนรู้จะช่วยให้สามารถยอมรับที่จะอยู่กับโรคนี้ รู้จักดูแลรักษาตนเองให้อาการน้อยลง และสามารถใช้ชีวิตเป็นปกติสุขได้

2. โรคนี้พบมากในวัยรุ่นและผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปี หากพบในคนอายุมากหรือมีโรคประจำตัว มักเป็นภาวะเหงื่อออกมากชนิดทุติยภูมิ อย่างไรก็ตาม หากมีอาการเหงื่อออกมากอย่างผิดปกติไม่ว่าเกิดขึ้นในวัยใด ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยให้แน่ชัด และให้การรักษาที่ถูกต้อง