โรคแผลเพ็ปติก (Peptic ulcer)แผลเพ็ปติก* หมายถึง แผลที่เกิดบนเยื่อบุกระเพาะอาหาร (stomach) ซึ่งเรียกว่า โรคแผลกระเพาะอาหาร หรือแผลจียู (gastric ulcer/GU) หรือแผลที่เยื่อบุลำไส้เล็กส่วนต้น (duodenum) ซึ่งเรียกว่า โรคแผลลำไส้เล็กส่วนต้น หรือแผลดียู (duodenal ulcer/DU)
แผลเพ็ปติกเป็นโรคที่พบได้บ่อย ประมาณร้อยละ10-20 ของคนทั่วไปจะมีโอกาสเป็นโรคนี้ในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต
แผลลำไส้เล็กส่วนต้น (ดียู) พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงประมาณ 2-4 เท่า และพบมากในช่วงอายุประมาณ 30-55 ปี ขณะที่แผลกระเพาะอาหารพบในผู้ชายพอ ๆ กับผู้หญิง และพบในช่วงอายุประมาณ 55-70 ปี แต่ทั้ง 2 โรคนี้ก็สามารถพบได้ในคนทุกวัย
*เดิมนิยมเรียกว่า โรคกระเพาะ โดยวินิจฉัยจากอาการแสดง คือ ปวดท้องตรงยอดอกหรือใต้ลิ้นปี่ที่เกิดก่อนหรือหลังอาหาร (หิวแสบ-อิ่มจุก) เป็นหลัก ซึ่งปัจจุบันพบว่าอาการดังกล่าวอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่จำเพาะว่าเกิดจากแผลเพ็ปติกเสมอไป ต้องอาศัยการตรวจโดยการใช้กล้องส่อง หรือเอกซเรย์โดยการกลืนแป้งแบเรียม จึงจะแยกสาเหตุได้ชัดเจน ดังนั้น คำว่า "โรคกระเพาะ" จึงมีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า "อาหารไม่ย่อย" ในที่นี้จึงขอใช้คำว่า "แผลเพ็ปติก" ในการเรียกชื่อโรคแผลกระเพาะอาหาร และแผลลำไส้เล็กส่วนต้น
สาเหตุ
แผลเพ็ปติก เกิดจากความเสียสมดุลระหว่างปริมาณกรดที่หลั่งในกระเพาะอาหาร กับความต้านทานต่อกรดของเยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้ ถ้าหากมีการหลั่งกรดมากเกิน หรือความต้านทานต่อกรดลดลงก็ทำให้เกิดแผลเพ็ปติกขึ้นได้ ในปัจจุบันพบว่าสาเหตุสำคัญของการเกิดแผลเพ็ปติกได้แก่
1. การติดเชื้อเอชไพโลโร (H.pylori) ซึ่งเป็นแบคทีเรียแกรมลบ เชื้อนี้สามารถติดต่อโดยการกินอาหารหรือน้ำดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อจากอุจจาระของผู้ติดเชื้อ แล้วเข้าไปฝังตัวอยู่ใต้เยื่อบุกระเพาะอาหาร ในระยะแรกอาจทำให้เกิดกระเพาะอาหารอักเสบ ซึ่งจะเป็นเรื้อรังนานเป็นแรมปีหรือนับเป็นสิบ ๆ ปี ต่อมาทำให้กลายเป็นแผลลำไส้เล็กส่วนต้น (พบเชื้อนี้ในผู้ที่เป็นแผลชนิดนี้ถึงร้อยละ 95-100) หรือแผลกระเพาะอาหาร (พบเชื้อนี้ในผู้ที่เป็นแผลชนิดนี้ถึงร้อยละ 75-85)
ในการติดตามผลการรักษาผู้ป่วยแผลเพ็ปติกด้วยการใช้กล้องส่องตรวจกระเพาะลำไส้ พบว่า การรักษาโรคแผลเพ็ปติกโดยวิธีดั้งเดิม (ให้ยาลดกรดและยาลดการสร้างกรด) นั้น ผู้ป่วยจะมีแผลกำเริบถึงร้อยละ 70-85 ใน 1 ปี แต่ในกลุ่มที่ได้ยาปฏิชีวนะกำจัดเชื้อเอชไพโลไรตามวิธีการรักษาแนวใหม่จะมีแผลกำเริบน้อยกว่าร้อยละ 5 ใน 1 ปี ดังนั้น ในวงการแพทย์ปัจจุบันจึงยอมรับว่า เชื้อนี้เป็นตัวการสำคัญของโรคแผลเพ็ปติกถึงแม้จะยังไม่มีความชัดเจนในกลไกของการทำให้เกิดแผลเพ็ปติกจากเชื้อนี้ก็ตาม บ้างสันนิษฐานว่าเชื้อชนิดนี้ทำให้กลไกในการต้านทานต่อกรดของเยื่อบุกระเพาะอาหารลดลง
2. การใช้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ได้แก่ แอสไพริน และกลุ่มยาแก้ปวดข้อ (เช่น อินโดเมทาซิน ไอบูโพรเฟน นาโพรเซน เป็นต้น) พบว่าผู้ที่ใช้ยากลุ่มนี้เป็นประจำจะมีโอกาสเป็นแผลกระเพาะอาหารร้อยละ 10-30 และแผลลำไส้เล็กส่วนต้นร้อยละ 2-20 และมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อน (เช่น เลือดออก แผลทะลุ) มากกว่าผู้ที่ไม่ได้ใช้ยากลุ่มนี้ถึง 3 เท่า ประมาณร้อยละ 1-2 ของผู้ใช้ยากลุ่มนี้เป็นประจำจะเกิดภาวะแทรกซ้อนภายใน 1 ปี ทั้งนี้เพราะยากลุ่มนี้ทำลายกลไกในการต้านทานต่อกรดของเยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้ (โดยการยับยั้งไม่ให้กระเพาะหลั่งเมือกออกมาปกคลุมเยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้) นอกจากนี้ ยากลุ่มนี้บางตัวยังมีฤทธิ์เป็นกรดซึ่งระคายต่อเยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้โดยตรง
กลุ่มที่เสี่ยงต่อการเกิดแผลเพ็ปติกจากยากลุ่มนี้ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้ที่ใช้ยากลุ่มนี้ในขนาดสูง ผู้ที่ใช้ยากลุ่มนี้นาน ๆ ผู้ที่ใช้ยากลุ่มนี้ร่วมกับสเตียรอยด์ ผู้ที่มีประวัติเป็นแผลเพ็ปติกมาก่อน ผู้ที่มีภาวะเจ็บป่วยรุนแรง
3. ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ บางอย่างอาจมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคนี้ แต่บางอย่างอาจไม่มีความสัมพันธ์โดยตรง เช่น
ประวัติการมีญาติพี่น้องเป็นแผลเพ็ปติก (อาจเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์) ทำให้มีโอกาสเป็นโรคนี้มากขึ้นเป็น 3 เท่า
การสูบบุหรี่ เพิ่มโอกาสของการเป็นแผลลำไส้เล็กส่วนต้น ทำให้การรักษาได้ผลช้า และทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้มากขึ้น
ผู้ที่มีเลือดกลุ่มโออาจเสี่ยงต่อการเป็นแผลลำไส้เล็กส่วนต้นมากกว่าปกติ
ความเครียดทางอารมณ์ ยังไม่มีข้อสรุปชัดเจนว่าเป็นสาเหตุของการเกิดแผลเพ็ปติกโดยตรงแต่พบว่าเป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้ป่วยโรคนี้เป็นแผลกำเริบได้
แผลลำไส้เล็กส่วนต้น ยังอาจพบร่วมกับโรคอื่น ๆ เช่น ภาวะต่อมพาราไทรอยด์ทำงานเกิน (hyperparathyroidism ซึ่งจะมีภาวะแคลเซียมสูง และแคลเซียมกระตุ้นให้กระเพาะอาหารหลั่งกรดมาก) กลุ่มอาการซอลลิงเกอร์-เอลลิสัน (Zollinger-Ellison syndrome ซึ่งเป็นเนื้องอกในตับอ่อนและลำไส้เล็กส่วนต้น ทำให้มีการหลั่งกรดและน้ำย่อยมากเกิน) ภาวะไตวายเรื้อรัง ตับแข็งจากพิษแอลกอฮอล์ ถุงลมปอดโป่งพอง เป็นต้น
แอลกอฮอล์ (ซึ่งเป็นสาเหตุของกระเพาะอักเสบชนิดเยื่อบุกร่อน ทำให้มีเลือดออกในกระเพาะอาหาร) สเตียรอยด์ และกาเฟอีน ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าเป็นสาเหตุของแผลเพ็ปติกโดยตรง แต่ก็อาจทำให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้เป็นแผลกำเริบได้ จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้สารเหล่านี้ในผู้ป่วยแผลเพ็ปติก
อาหารทุกชนิดไม่เป็นสาเหตุโดยตรงของการเกิดแผลเพ็ปติก แต่ถ้ากินแล้วทำให้มีอาการกำเริบ (เช่น อาหารรสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด น้ำส้ม น้ำผลไม้) ก็ควรจะหลีกเลี่ยง
อาการ
มักมีอาการปวดท้องเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรังตรงบริเวณกลางยอดอกหรือใต้ลิ้นปี่ บางรายอาจค่อนมาทางขวาหรือซ้ายก็ได้ เวลาที่ปวดมักสัมพันธ์กับมื้ออาหาร เช่น ก่อนหรือหลังอาหาร ลักษณะการปวดอาจปวดแสบ ปวดตื้อ จุกเสียด หรือมีความรู้สึกหิวข้าวก่อนเวลาอาหาร บางครั้งอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือเรอเปรี้ยวร่วมด้วย
ในผู้ป่วยที่มีแผลลำไส้เล็กส่วนต้น มักมีอาการปวดท้องหลังกินอาหารแล้วประมาณ 1-3 ชั่วโมง หรือขณะท้องว่าง โดยมากจะเริ่มปวดตอนสาย ๆ ในช่วงบ่าย ๆ เย็น ๆ จะปวดมากขึ้น และอาจปวดมากตอนดึก ๆ จนต้องตื่นนอนหรือนอนไม่หลับ
อาการปวดมักดีขึ้นทันทีหลังกินอาหาร ดื่มนม หรือกินยาต้านกรด หรือหลังอาเจียน ถ้าแผลลุกลามไปที่ตับอ่อนอาจทำให้มีอาการปวดหลังร่วมด้วย และไม่หายปวดท้องหลังกินอาหาร
ในผู้ป่วยที่มีแผลกระเพาะอาหาร มักมีอาการปวดท้องหลังอาหารประมาณ 1/2-1 ชั่วโมง บางรายอาจมีอาการเบื่ออาหาร (ไม่อยากกิน เพราะกลัวปวดท้อง) และน้ำหนักลด
อาการปวดท้องมักเป็นอยู่นานหลายสัปดาห์ แล้วอาจหายไปได้เอง แต่ก็มักมีอาการกำเริบภายใน 1-2 ปีเป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตาม ลักษณะอาการของผู้ป่วยแผลลำไส้เล็กส่วนต้นกับแผลกระเพาะอาหาร บางครั้งก็อาจแยกจากกันได้ไม่ชัดเจน เช่น อาการปวดท้องตอนดึกก็อาจเกิดในผู้ป่วยแผลกระเพาะอาหารได้เช่นกัน
ผู้ป่วยบางรายอาจเป็นแผลเพ็ปติกโดยไม่มีอาการแสดงก็ได้ เช่น พบว่ากลุ่มที่เป็นแผลจากยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์มีประมาณร้อยละ 50 ที่ไม่ปรากฏอาการหรือผู้ป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อน (เช่น ถ่ายดำ) ก็อาจไม่มีอาการปวดท้องมาก่อนก็ได้
ภาวะแทรกซ้อน
ถ้าปล่อยให้เป็นเรื้อรังอาจมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นได้ ที่พบบ่อยคือ ภาวะเลือดออกในกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กส่วนต้น ผู้ป่วยจะมีอาการอาเจียนเป็นเลือดหรือถ่ายอุจจาระดำ ส่วนมากเลือดจะออกไม่มากและหยุดได้เอง ส่วนน้อยอาจมีเลือดออกมากจนบางครั้งเกิดภาวะช็อก ถ้าเลือดออกเรื้อรังก็อาจเกิดภาวะโลหิตจางจากภาวะขาดธาตุเหล็กได้
บางรายแผลอาจกินลึกจนเป็นรูทะลุ เรียกว่า แผลเพ็ปติกทะลุ ซึ่งอาจทำให้มีเยื่อบุช่องท้องอักเสบร่วมด้วยได้ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้องรุนแรง และหน้าท้องแข็ง ควรได้รับการผ่าตัดแก้ไขโดยด่วน
บางรายอาจมีภาวะกระเพาะหรือลำไส้อุดกั้น มีอาการปวดท้องรุนแรง อาเจียนรุนแรง และท้องผูก
ในรายที่แผลกินลึกไปถึงตับอ่อนอาจทำให้มีอาการปวดหลัง หรือมีอาการของตับอ่อนอักเสบร่วมด้วย
ผู้ที่เป็นแผลกระเพาะอาหารเรื้อรังจากเชื้อเอชไพโลไรก็อาจมีโอกาสกลายเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารได้
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยขั้นต้นจากอาการ ส่วนการตรวจร่างกายมักไม่พบสิ่งผิดปกติ บางรายอาจรู้สึกกดเจ็บเล็กน้อยตรงบริเวณลิ้นปี่
ในรายที่มีเลือดออก (เช่น ถ่ายดำ) อาจตรวจพบอาการซีด
เนื่องจากไม่สามารถวินิจฉัยจากอาการแสดง แพทย์จำเป็นต้องวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการใช้กล้องส่องตรวจกระเพาะลำไส้ หรือเอกซเรย์กระเพาะลำไส้โดยการกลืนแป้งแบเรียม บางรายแพทย์จะทำการตรวจเพิ่มเติม (เช่น การตรวจชิ้นเนื้อ การตรวจหาเชื้อเอชไพโลไร เป็นต้น)
การรักษาโดยแพทย์
แพทย์จะให้การดูแลรักษาดังนี้
1. ถ้ามีอาการปวดกระเพาะครั้งแรกในคนอายุต่ำกว่า 40 ปี และสุขภาพทั่วไปแข็งแรงดี ไม่มีความผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย ซึ่งยังบอกไม่ได้ว่าเป็นโรคแผลเพ็ปติกหรือไม่ แพทย์จะให้การรักษาเบื้องต้นแบบโรคกระเพาะหรืออาหารไม่ย่อย โดยแนะนำการปฏิบัติตัว และให้ยาลดการสร้างกรดกลุ่มยับยั้งโปรตอนปั๊มป์ (เช่น โอเมพราโซล, แพนโทพราโซล, แลนโซพราโซล, ราบีพราโซล เป็นต้น)
ถ้ารู้สึกทุเลาหลังกินยาได้ 2-3 ครั้ง ควรกินต่อจนครบ 2 สัปดาห์ ถ้ารู้สึกหายดีควรกินยานานประมาณ 8 สัปดาห์
ถ้ากินยา 2-3 ครั้งแล้วยังไม่รู้สึกทุเลาแม้แต่น้อย หรือทุเลาแล้วแต่กินจนครบ 2 สัปดาห์แล้วรู้สึกไม่หายดี หรือกำเริบซ้ำหลังจากหยุดกินยาจนครบ 8 สัปดาห์แล้ว หรือ มีอาการเบื่ออาหาร กลืนลำบาก น้ำหนักลด ซีด ตาเหลือง ตับโต ม้ามโต คลำได้ก้อนในท้อง อาเจียนรุนแรง หรือสงสัยเป็นโรคหัวใจขาดเลือด หรือนิ่วน้ำดี หรือพบในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป แพทย์จะทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุและความรุนแรงของโรคแผลเพ็ปติก และโรคอื่นๆที่อาจมีอาการคล้ายแผลเพ็ปติก นอกจากการใช้กล้องส่องตรวจกระเพาะลำไส้แล้ว อาจทำการตรวจพิเศษอื่น ๆ ตามโรคที่สงสัย(เช่น ตรวจเลือด เอกซเรย์ อัลตราซาวนด์ คลื่นหัวใจ เป็นต้น)
2. เมื่อตรวจพิเศษแล้วพบว่าเป็นแผลเพ็ปติก แพทย์มีแนวทางการรักษา ดังนี้
2.1 แผลเพ็ปติกที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อเอชไพโลไร (จำเป็นต้องอาศัยการใช้กล้องส่อง และตรวจพบเชื้อเอชไพโลไร) การรักษามีจุดมุ่งหมายเพื่อบรรเทาอาการปวดท้อง รักษาแผลให้หายและกำจัดเชื้อเอชไพโลไรโดยให้ยาดังนี้
ยาลดการสร้างกรดกลุ่มยับยั้งโปรตอนปั๊มป์ นาน 6-8 สัปดาห์ ร่วมกับ
ยาปฏิชีวนะ 2-4 ชนิดร่วมกัน นาน 10-14 วัน เช่น เมโทรไนดาโซล คลาริโทรไมซิน (clarithromycin) อะม็อกซีซิลลิน เตตราไซคลีน บิสมัทซับซาลิไซเลต (bismuth subsalicylate)
2.2 แผลเพ็ปติกที่ไม่สัมพันธ์กับการติดเชื้อเอชไพโลไร เป็นแผลเพ็ปติกที่ตรวจไม่พบการอักเสบจากเชื้อเอชไพโลไร อาจมีสาเหตุจากการใช้ยาแอสไพริน หรือกลุ่มยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ให้การรักษาด้วยยาลดการสร้างกรดกลุ่มโปรตอนปั๊มป์ นาน 4 สัปดาห์ (สำหรับแผลลำไส้เล็กส่วนต้นที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน) หรือนาน 6-8 สัปดาห์ (สำหรับแผลกระเพาะอาหาร หรือแผลเพ็ปติกที่มีภาวะแทรกซ้อน)
2.3 ในรายที่เป็นแผลเพ็ปติกเรื้อรังหรือเคยมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น หรือผู้สูงอายุ หรือในรายที่ยังสูบบุหรี่ อาจจำเป็นต้องกินยาลดการสร้างกรดนาน 3-6 เดือนหรือเป็นปี และอาจต้องใช้กล้องส่องตรวจและตรวจชิ้นเนื้อซ้ำจนกว่าแผลจะหายดี
ถ้าแผลเรื้อรังไม่ยอมหาย อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด
3. ถ้ามีอาการอาเจียนเป็นเลือดหรือถ่ายดำ หน้ามืด เป็นลม ช็อก หรือมีอาการปวดท้องรุนแรง ปวดท้องติดต่อกันนานเกิน 6 ชั่วโมง อาเจียนรุนแรง หรือมีอาการท้องเกร็งแข็ง แพทย์จะรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล และให้การรักษาตามภาวะที่พบ เช่น
ถ้าเสียเลือดมากอาจต้องให้เลือด แล้วทำการตรวจหาสาเหตุ และให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ
ถ้าตรวจพบว่ามีภาวะแผลเพ็ปติกทะลุ หรือกระเพาะหรือลำไส้ตีบตัน จำเป็นต้องผ่าตัดด่วน
การดูแลตนเอง
หากสงสัย เช่น มีอาการปวดแสบหรือจุกแน่นตรงใต้ลิ้นปี่ ก่อนหรือหลังอาหารนานเกิน 1 สัปดาห์ มีอาการเป็น ๆ หาย ๆ บ่อย หรือมีประวัติเคยตรวจพบว่าเป็นโรคแผลเพ็ปติกมาก่อน หรือกินแอสไพริน หรือยาแก้ปวดข้อเป็นประจำ หรือพบในคนอายุมากกว่า 40 ปี ควรปรึกษาแพทย์
เมื่อตรวจพบว่าเป็นแผลเพ็ปติก ควรดูแลตนเอง ดังนี้
1. กินยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
2. ติดตามการรักษากับแพทย์ตามนัด
3. ปฏิบัติตัว ดังนี้
กินอาหารให้ตรงเวลาทุกมื้อ อย่าปล่อยให้หิว
งดบุหรี่ แอลกอฮอล์ ชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มกาเฟอีน น้ำอัดลม
หลีกเลี่ยงการใช้แอสไพริน ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ยาสเตียรอยด์
อาหารรสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด น้ำส้ม น้ำผลไม้ ถ้ากินแล้วมีอาการปวดท้องกำเริบ ควรงดจนกว่าจะหายดี
ออกกำลังกายเป็นประจำ และหาวิธีผ่อนคลายความเครียด (ถ้าเครียด)
4. ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ปวดท้องมาก อาเจียน อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระดำ ซีด ตาเหลือง คลำได้ก้อนในท้อง กินยารักษา 1 สัปดาห์แล้วไม่ดีขึ้น หรือมีอาการผิดสังเกตที่สงสัยว่าเกิดจากผลข้างเคียงจากยาที่ใช้ (เช่น ลมพิษ ผื่นคัน ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ปากแห้ง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดินหรือท้องผูก เป็นต้น)
การป้องกัน
ผู้ป่วยที่กินยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์มีภาวะเสี่ยงต่อการเกิดแผลเพ็ปติก (เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่ต้องใช้ยานี้ในขนาดสูงหรือนาน ๆ หรือใช้ร่วมกับยาสเตียรอยด์ ผู้ที่เคยเป็นแผลเพ็ปติกมาก่อน เป็นต้น) แพทย์จะให้กินยาลดการสร้างกรดป้องกันควบคู่ด้วย
ข้อแนะนำ
1. ผู้ป่วยควรกินยาอย่างต่อเนื่องและพบแพทย์ตามนัด การกินยาไม่ต่อเนื่องอาจทำให้กลายเป็นแผลเรื้อรังและรักษายากหรือมีภาวะแทรกซ้อนได้
2. เนื่องจากโรคแผลเพ็ปติกอาจมีอาการคล้ายอาหารไม่ย่อย (dyspepsia) ซึ่งมีสาเหตุได้หลากหลาย การวินิจฉัยโรคนี้ที่แน่ชัดจำเป็นต้องอาศัยการตรวจพิเศษ (เช่น ส่องกล้องหรือเอกซเรย์กระเพาะลำไส้)
3. มะเร็งกระเพาะอาหารระยะแรก (ซึ่งพบในคนอายุมากกว่า 40 ปีมากกว่าวัยที่ต่ำกว่า 40 ปี) อาจมีอาการคล้ายอาหารไม่ย่อย (dyspepsia หรือ "โรคกระเพาะ") หรือแผลเพ็ปติก และอาการสามารถทุเลาด้วยยาต้านกรดและยาลดการสร้างกรด แต่ต่อมาเมื่อแผลมะเร็งลุกลามมากขึ้น การใช้ยาจะไม่ได้ผล และจะมีอาการน้ำหนักลด อาเจียน หรือถ่ายดำตามมาได้ ดังนั้น หากรักษา "โรคกระเพาะ" โดยวินิจฉัยจากอาการแสดง 2 สัปดาห์แล้วไม่ดีขึ้น มีอาการกำเริบบ่อย หรือพบในคนอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป หรือมีประวัติเคยรักษาโรคแผลเพ็ปติกมาก่อน ควรปรึกษาแพทย์ให้ทำการตรวจพิเศษ (เช่น ส่องกล้องหรือเอกซเรย์กระเพาะลำไส้) เพื่อแยกแยะสาเหตุให้แน่ชัด หากพบว่าเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารจะได้รับการรักษาแต่เนิ่น ๆ ซึ่งได้ผลดีกว่าพบในระยะลุกลามแล้ว