ฉนวนกันความร้อนมีกี่ชนิด ควรเลือกอย่างไรดีบ้านไหนร้อนจัด ความร้อนพุ่งตรงเข้าบ้านแบบเต็ม ๆ ทำเอาค่าไฟแต่ละเดือนพุ่งกระฉูด ลองมารู้จักกับฉนวนกันความร้อน ทางเลือกลดความร้อนที่จะเข้าสู่บ้านกัน ว่าวัสดุชนิดนี้คืออะไรช่วยอะไรได้บ้าง และฉนวนกันความร้อนมีกี่ชนิด แบบไหนที่น่าเลือกมาใช้ที่บ้านบ้าง พร้อมแล้วก็ไปรับความรู้ดี ๆ กันได้เลย!
ฉนวนกันความร้อนคืออะไร?
“วัสดุที่ช่วยลดหรือป้องกันความร้อนเข้าบ้าน”
ฉนวนกันความร้อน คือ วัสดุที่มีคุณสมบัติป้องกันความร้อนจากภายนอกไม่ให้ส่งผ่านจากด้านหนึ่งไปอีกด้านหนึ่ง หรือส่งผ่านไปได้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ส่วนมากใช้สำหรับติดตั้งบริเวณใต้หลังคาบ้าน บนฝ้าเพดาน หลังคาโรงงานอุตสาหกรรม ผนัง กำแพง
แค่ชื่อก็บอกแล้วว่าใช้สำหรับกันความร้อน ดังนั้นคุณสมบัติที่เด่นที่สุดของวัสดุประเภทนี้ก็คือ การลดความร้อนที่จะเข้าสู่ตัวบ้าน โดยลักษณะของฉนวนกันความร้อนนั้นจะมีความหนาแตกต่างกันไปแล้วแต่ชนิด ซึ่งจะช่วยให้บ้านร้อนน้อยลง อยู่อาศัยได้อย่างสบายมากยิ่งขึ้น
ฉนวนกันความร้อนมีกี่ชนิด แบบไหนบ้างที่น่าสนใจ?
1. ฉนวนใยแก้วหรือไฟเบอร์กลาส
“แผ่นหนาสะท้อนความร้อนออก”
ฉนวนแบบใยแก้วเป็นฉนวนกันความร้อนที่ใช้มายาวนาน มีลักษณะเด่นเป็นเส้นใยแผ่นหนาที่ถูกห่อหุ้มด้วยฟอยล์ ซึ่งฟอยล์จะทำหน้าที่สะท้อนความร้อนกลับออกไปนอกตัวบ้าน และถ้าหากยังมีความร้อนหลงเหลืออยู่จะถูกกักเก็บไว้ในตัวเส้นใยข้างใต้
อย่างไรก็ตามปัจจุบันไม่ค่อยจะนิยมใช้กันแล้ว เพราะเวลาเสื่อมสภาพจะมีละอองสารพิษระเหยซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพเจ้าของบ้าน รวมถึงถ้าติดไฟ ไฟจะมีลักษณะเป็นแก๊สพิษ นอกจากนี้นกหรือหนูก็ยังชอบมาทำรังมากเพราะเป็นวัสดุที่อุ่นและนุ่ม
2. ฉนวนประเภทโฟมโพลียูริเทน (PU Foam)
“เป็นโฟมฉีดพ่นได้สะดวก”
ฉนวนประเภทนี้มักจะฉีดไว้ที่บริเวณใต้แผ่นหลังคาเมทัลชีท และจะมีฟอยล์ปิดทับชั้นล่างอีกทีหนึ่ง ซึ่งจะช่วยสะท้อนความร้อนออกนอกตัวบ้านทันที ไม่มากักเก็บไว้ใต้หลังคา หรือจะใช้ฉีดบนหลังคาเลยก็ได้ ถ้าหากว่าหลังคาเดิมไม่สะท้อนความ ซึ่งหลักการทำงานก็เหมือนกันคือสะท้อนความร้อนออกทันทีไม่ผ่านเข้ามาในตัวบ้าน
3. ฉนวนประเภทโฟมโพลีเอทิลีน (PE Foam)
“แผ่นฉนวนกันความร้อนติดตั้งได้เร็ว”
ฉนวนประเภทนี้มีลักษณะเป็นแผ่นเหนียวนุ่ม มีแผ่นฟอยล์บาง ๆ หุ้มเคลือบผิว ทนร้อน น้ำหนักเบา ทนแรงกระแทก ที่สำคัญทนต่อการกัดกร่อน จึงมักถูกนำไปใช้ในโรงงานเพราะมีเนื้อที่บนหลังคาเป็นจำนวนมาก การใช้แผ่นฉนวนกันความร้อนประเภทนี้จึงช่วยให้ติดตั้งได้อย่างรวดเร็วขึ้น
4. ฉนวนเยื่อกระดาษ (Cellulose)
“ปลอดภัยไม่ลามไฟ”
สำหรับฉนวนเยื่อกระดาษ (Cellulose) เป็นวัสดุที่มีส่วนผสมระหว่างเยื่อไม้กับกระดาษและสารเคมีที่ไม่ก่อให้เกิดการลามไฟ ลักษณะการใช้งานคือฉีดพ่นเหมือน (PU Foam) ฉีดที่แผ่นหลังคาข้างบนหรือข้างใต้ก็ได้ อย่างไรก็ตามยังไม่เป็นที่นิยม เพราะคนจะเลือกใช้เป็น PU Foam มากกว่า
วิธีเลือกซื้อฉนวนกันความร้อนตัองดูที่อะไร?
ฉนวนกันความร้อนบนหลังคา
สำหรับหลักเกณฑ์ในการเลือกใช้ฉนวนกันความร้อนมีหลักการเลือกโดยดูจากค่า R และ K โดย ค่า R (Resistivity) = ค่าต้านความร้อน ส่วน ค่า K ( K-value / Conductivity) = ค่าการนำความร้อน เจ้าของบ้านต้องเลือกค่า R ที่สูง และค่า K ที่ต่ำ เท่านั้น เพื่อให้ปกป้องบ้านไม่ให้ความร้อนเข้าตัวบ้านได้หรือเข้าให้น้อยที่สุดนั่นเอง