ผู้เขียน หัวข้อ: หมอออนไลน์: ปวดฟัน ฟันผุ (Dental caries/Tooth decay)  (อ่าน 79 ครั้ง)

siritidaphon

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 811
  • จำหน่ายเครื่องจักรอุตสาหกรรมและสินค้าอุตสาหกรรม
    • ดูรายละเอียด
หมอออนไลน์: ปวดฟัน ฟันผุ (Dental caries/Tooth decay)
« เมื่อ: วันที่ 8 สิงหาคม 2024, 15:02:20 น. »
หมอออนไลน์: ปวดฟัน ฟันผุ (Dental caries/Tooth decay)

ฟันผุ (แมงกินฟัน ฟันเป็นแมง ฟันเป็นรู ฟันเป็นโพรง) เป็นโรคที่พบได้ประมาณร้อยละ 80 ของคนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กที่ชอบกินน้ำตาลหรือของหวานและไม่ได้แปรงฟันให้สะอาด

สาเหตุ

เกิดจากการมีเศษอาหารค้างอยู่ตามซอกฟัน หรือมีน้ำตาล (จากอาหารที่กิน) ค้างคาอยู่ในปาก สัมผัสถูกฟันเป็นเวลานาน ทำให้แบคทีเรีย (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Streptococcus mutans) ที่อยู่บนแผ่นคราบฟัน* ย่อยสลายเศษอาหารพวกแป้งและน้ำตาลให้เกิดเป็นสารกรดซึ่งสามารถกัดกร่อนผิวฟันทีละน้อย จากชั้นเคลือบฟันภายนอกเข้าไปในเนื้อฟัน จนทะลุถึงชั้นโพรงประสาทฟันก็จะทำให้เกิดอาการปวดฟัน หรือฟันอักเสบเป็นหนอง

*แผ่นคราบฟัน (dental plaque) หรือแผ่นคราบจุลินทรีย์ เป็นแผ่นคราบบาง ๆ เกาะอยู่ที่ซอกฟัน คอฟัน ร่องฟัน ประกอบด้วยเมือกเหนียวของน้ำลายและเชื้อโรคหลายชนิด ถ้าไม่ได้รับการทำความสะอาด ปล่อยให้แผ่นคราบฟันสะสมพอกหนาขึ้นเรื่อย ๆ ก็จะกลายเป็นสาเหตุของฟันผุ และเหงือกอักเสบได้


อาการ

ในระยะแรกจะมีอาการปวดเสียวฟันเล็กน้อยเวลากินของหวาน ของเย็นจัด หรือร้อนจัด

ถ้าฟันผุมากขึ้น อาจมีเศษอาหารติดอยู่ในโพรงทำให้มีกลิ่นปากได้

ถ้าฟันผุจนถึงชั้นโพรงประสาท (ชั้นในสุด) ก็จะทำให้โพรงประสาทอักเสบ มีอาการปวดฟันรุนแรงเวลากินของหวาน ของเย็นจัด หรือร้อนจัด บางรายอาจมีอาการปวดแปลบ ๆ ซึ่งบ่งบอกตำแหน่งของฟันที่ปวด ถ้าปล่อยไว้จนรากฟันอักเสบเป็นหนองก็จะทำให้มีอาการปวดฟันรุนแรง


ภาวะแทรกซ้อน

ถ้าฟันผุไม่มาก โดยทั่วไปมักไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง แต่ถ้าฟันผุมาก มีอาการปวดฟันหรือการอักเสบบ่อย ๆ อาจทำให้กินอาหารไม่ได้ ร่างกายได้รับอาหารไม่เพียงพอ หรืออาจทำให้เกิดการอักเสบในช่องปาก เช่น คออักเสบ ทอนซิลอักเสบ เป็นต้น

ถ้ารากฟันเป็นหนองอาจทำให้เชื้อโรคลุกลามกลายเป็นไซนัสอักเสบ หรือโลหิตเป็นพิษได้

ที่ร้ายแรงคือ อาจทำให้มีการติดเชื้อรุนแรงของเนื้อเยื่อ (cellulitis) บริเวณขากรรไกรและใต้ลิ้น เรียกว่า ลุดวิกแองไจนา (Ludwig’s angina) ทำให้เกิดอาการบวมบริเวณใต้คางและใต้ขากรรไกร 2 ข้าง ผิวหนังออกสีน้ำตาล มีลักษณะแข็งเป็นดานและกดเจ็บ เนื้อเยื่อใต้ลิ้นที่บวมจะดันลิ้นขึ้นข้างบนและไปข้างหลัง ผู้ป่วยมักมีอาการไข้ร่วมด้วย ถ้าเป็นรุนแรงผู้ป่วยจะมีอาการอ้าปาก กลืน และพูดลำบาก และอาจทำให้หายใจลำบาก อาจเสียชีวิตจากภาวะอุดกั้นของทางเดินหายใจ หรือโลหิตเป็นพิษได้

การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและการตรวจพบฟันผุเป็นรู บางรายพบรากฟันอักเสบเป็นหนอง แก้มบวมปูด อาจมีไข้ หรือต่อมน้ำเหลืองในบริเวณคอบวมและปวด

การรักษาโดยแพทย์
ทันตแพทย์จะทำการอุดฟันหรือถอนฟัน

ขณะที่มีอาการปวด ให้กินยาแก้ปวดระงับชั่วคราว ถ้ามีการอักเสบหรือเป็นหนอง ให้ยาปฏิชีวนะ


การดูแลตนเอง

หากมีอาการเสียวฟัน ปวดฟัน ฟันผุ ควรปรึกษาแพทย์ หรือทันตแพทย์

เมื่อตรวจพบว่าฟันผุ ควรดูแลรักษา และปฏิบัติตามคำแนะนำของทันตแพทย์ และติดตามการรักษากับทันตแพทย์ตามนัด 

ในรายที่แพทย์ให้ยากลับไปกินที่บ้าน ถ้ากินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา (เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ) ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด


การป้องกัน

1. หลีกเลี่ยงการอมหรือจิบของกินที่มีน้ำตาล (เช่น ทอฟฟี่ ลูกอม น้ำตาล น้ำผึ้ง ของหวาน น้ำหวาน น้ำผลไม้ นม เป็นต้น) ต่อเนื่องนาน ๆ หากกินของเหล่านี้หลังกินควรรีบบ้วนปากทันที อย่าให้มีน้ำตาลตกค้างอยู่ในปาก ผู้ที่ฟันผุง่ายควรลดการกินของเหล่านี้

2. แปรงฟันให้ถูกวิธี อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ใช้ไหมขัดฟัน (dental floss silk) ขัดฟันอย่างน้อยวันละครั้ง และหลังกินอาหารทุกครั้งควรบ้วนปากทันที

3. ใช้ฟลูออไรด์ อาจเป็นในรูปของยาเม็ด ยาอมบ้วนปาก หรือยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ ถ้าใช้ชนิดกิน ควรปรึกษาทันตแพทย์ถึงขนาดและวิธีการใช้ เพราะถ้าใช้มากไปอาจทำให้ฟันตกกระ หรือกินขนาดสูงมาก ๆ อาจเป็นพิษต่อร่างกายได้ ฟลูออไรด์จะเสริมสร้างผิวเคลือบฟันให้แข็งแรง แต่จะได้ผลดีสำหรับเด็กตั้งแต่แรกเกิดถึง 14 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่ฟันกำลังเจริญเติบโต

4. ควรไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพช่องปากและฟันทุก 6-12 เดือน


ข้อแนะนำ

1. อาการปวดฟัน นอกจากสาเหตุจากฟันผุแล้วยังอาจเกิดจากฟันคุด (impacted tooth) ซึ่งหมายถึง ฟันกรามซี่สุดท้าย (ซี่ในสุด) โผล่ขึ้นไม่ได้ เนื่องจากขากรรไกรของคนเราเล็กลง ฟันซี่นี้ปกติจะขึ้นตอนอายุ 17-25 ปี เมื่อขึ้นได้ไม่สุด ทำให้บริเวณนั้นมีซอกให้อาหารติดค้าง เป็นเหตุให้บางครั้งมีการอักเสบ และปวดบวมตรงบริเวณรอบ ๆ ฟันซี่นั้น บางรายอาจมีไข้ขึ้น มักเกิดกับฟันกรามล่างซี่ในสุดทั้ง 2 ข้าง

ถ้าสงสัยควรปรึกษาทันตแพทย์เพื่อถอนออก ระหว่างที่ปวดอาจให้การรักษาเบื้องต้นด้วยยาแก้ปวดและยาปฏิชีวนะ

2. ผู้ที่เป็นโรคปวดเส้นประสาทใบหน้า ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของประสาทสมองเส้นที่ 5 (trigeminal nerve) ที่เลี้ยงบริเวณใบหน้าและศีรษะ พบมากในผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี อาจมีอาการเหมือนปวดเสียวฟัน เนื่องจากถูกกระตุ้นด้วยการแปรงฟัน การเคี้ยวอาหาร หรือการดื่มน้ำร้อนจัดหรือเย็นจัด จึงอาจไปหาทันตแพทย์ ซึ่งอาจตรวจไม่พบความผิดปกติ หรือหากบังเอิญพบมีความผิดปกติเล็กน้อย (เช่น ฟันผุ) ก็อาจได้รับการทำฟันแล้วอาการปวดไม่ดีขึ้น กรณีเช่นนี้แนะนำให้ไปปรึกษาแพทย์ทางระบบประสาท