ผู้เขียน หัวข้อ: อาการของโรค: ภาวะตั้งครรภ์ (Pregnancy) แพ้ท้อง (Morning sickness)  (อ่าน 324 ครั้ง)

siritidaphon

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 1077
  • จำหน่ายเครื่องจักรอุตสาหกรรมและสินค้าอุตสาหกรรม
    • ดูรายละเอียด
อาการของโรค: ภาวะตั้งครรภ์ (Pregnancy) แพ้ท้อง (Morning sickness)
« เมื่อ: วันที่ 3 ธันวาคม 2024, 20:23:34 น. »
อาการของโรค: ภาวะตั้งครรภ์ (Pregnancy) แพ้ท้อง (Morning sickness)

ภาวะตั้งครรภ์ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของผู้ที่ตั้งครรภ์อย่างมากมาย เกิดภาวะเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนที่ต้องให้การดูแลรักษาเพื่อให้ลูกเกิดรอด แม่ปลอดภัย

ประมาณ 3 ใน 4 คน อาจมีอาการแพ้ท้องไม่มากก็น้อย ซึ่งจะเป็นมากในช่วงสัปดาห์ที่ 5-6 ของการตั้งครรภ์ และจะเป็นอยู่จนกระทั่งสัปดาห์ที่ 14-16 หลังจากนั้นจะค่อย ๆ ทุเลาไปได้เอง

สาเหตุ

ภาวะตั้งครรภ์ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การโตขึ้นของมดลูกตามอายุครรภ์ การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฮอร์โมนหลายชนิดที่รกสร้าง และการเปลี่ยนแปลงทางจิตใจและอารมณ์ ทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ที่พบร่วมกันในหญิงตั้งครรภ์ และอาจทำให้เกิดโรคและภาวะผิดปกติในหญิงตั้งครรภ์บางราย

แพ้ท้อง สาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัด เชื่อว่าเป็นผลมาจากร่างกายมีระดับเอสโทรเจนและฮอร์โมนเอชซีจี (human chorionic gonadotropin/HCG ที่รกสร้าง) สูง นอกจากนี้ยังมีความสัมพันธ์กับภาวะจิตใจและอารมณ์ ซึ่งพบว่าผู้ที่มีอารมณ์อ่อนไหว เครียด วิตกกังวล จะมีอาการแพ้ท้องได้มาก

ผู้ที่เคยมีอาการแพ้มาก่อน หรือผู้ที่เคยมีอาการคลื่นไส้หรืออาเจียนจากโรคไมเกรน จากการได้กลิ่นหรือรสอาหารบางอย่าง หรือจากการใช้ยาเอสโทรเจน (เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิด) มีโอกาสเกิดอาการแพ้ท้องได้มากกว่าคนปกติทั่วไป

ผู้หญิงที่มีครรภ์แฝด หรือครรภ์ไข่ปลาอุก อาจมีอาการแพ้ท้องรุนแรง เรียกว่า “ภาวะแพ้ท้องอย่างแรง (hyperemesis gravidarum)” เชื่อว่าสัมพันธ์กับระดับเอชซีจีที่สูง นอกจากนี้ภาวะแพ้ท้องอย่างแรงยังอาจพบในผู้ที่มีประวัติเคยมีภาวะนี้ในครรภ์ก่อน ๆ หรือมีประวัติคนในครอบครัวมีภาวะนี้

อาการ

ระยะแรกเริ่มมักมีอาการอ่อนเพลีย เต้านมคัดและเจ็บ ปัสสาวะบ่อย และอาจมีอาการเบื่ออาหารหรืออยากอาหารมากขึ้น ร่วมกับมีประวัติขาดประจำเดือนหรือประจำเดือนเลยกำหนดเป็นสัปดาห์

ส่วนผู้ที่มีอาการแพ้ท้อง มักมีอาการคลื่นไส้ พะอืดพะอม บางครั้งอาเจียน ส่วนใหญ่มักเป็นมากตอนเช้าหลังตื่นนอน แต่ก็อาจมีอาการในช่วงกลางวันและตอนเย็นก็ได้ ผู้ป่วยมักมีความรู้สึกไม่ชอบกลิ่นอาหาร (เช่น กาแฟ เนื้อ) กลิ่นน้ำหอมที่เคยชอบกลับไม่ชอบ อยากกินของเปรี้ยว เช่น มะม่วง มะกอก มะดัน

เมื่ออายุครรภ์มากขึ้น จะมีอาการท้องโต (ท้องป่อง) และอาการต่าง ๆ ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย

อาการเปลี่ยนแปลงของหญิงตั้งครรภ์
ผู้หญิงตั้งครรภ์มักมีอาการเปลี่ยนแปลงดังต่อไปนี้

    รู้สึกอ่อนเพลีย ซึ่งพบในไตรมาสแรก (เนื่องจากปริมาตรของเลือดเพิ่มขึ้น ทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น) หลังจากนั้นจะทุเลาไป และกลับมีอาการอ่อนเพลียเมื่อย่างเข้าไตรมาสที่ 3 เนื่องจากน้ำหนักตัวที่มากขึ้น
    รู้สึกอยากนอน เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของฮอร์โมนโพรเจสเทอโรน รวมทั้งนอนไม่พอเนื่องจากเด็กดิ้น และต้องตื่นขึ้นปัสสาวะบ่อย
    เต้านมคัดและเจ็บ เนื่องจากการขยายของเต้านมจากอิทธิพลของฮอร์โมนเอสโทรเจน ลานหัวนมจะขยายออกและมีสีคล้ำขึ้น และจะมีนมน้ำเหลือง (colostrum) ไหลจากหัวนมเวลาบีบ
    มดลูกค่อย ๆ โตขึ้น จนเห็นท้องป่องเมื่ออายุครรภ์ได้ 12 สัปดาห์ โตขึ้นระดับสะดือเมื่ออายุครรภ์ 20 สัปดาห์ และถึงระดับใต้ลิ้นปี่เมื่ออายุครรภ์ 36 สัปดาห์ มดลูกที่โตขึ้นจะกดทางเดินอาหารและทางเดินปัสสาวะให้เกิดอาการต่าง ๆ ตามมา
    ตกขาว ออกเป็นเมือกใสหรือสีขาว และมีปริมาณมากขึ้น ซึ่งถือเป็นภาวะปกติ ถ้าออกเป็นสีเหลืองสีเขียว มีกลิ่น หรือแสบคันในช่องคลอด ถือว่าผิดปกติ
    หัวใจทำงานหนักขึ้นเนื่องจากปริมาตรของเลือดที่เพิ่มขึ้น ทำให้ชีพจรเต้นเร็ว (เพิ่มจาก 70 ครั้ง/นาที เป็น 80-90 ครั้ง/นาที) ผู้ป่วยอาจรู้สึกใจสั่น ชีพจรอาจเต้นไม่สม่ำเสมอเป็นบางครั้ง การฟังเสียงหัวใจอาจมีเสียงฟู่ (murmur) ซึ่งถือว่าเป็นภาวะปกติ แต่ควรแยกออกจากภาวะผิดปกติของหัวใจ
    มีอาการคัดจมูก นอนกรน เลือดกำเดาไหล มีเสียงดังในหูหรือหูอื้อ (จากท่อยูสเตเชียนบวม) เนื่องจากเยื่อเมือกบวมเพราะมีเลือดไปคั่งมากขึ้น
    หายใจเร็วและลึกขึ้น เนื่องจากโพรเจสเทอโรนกระตุ้นให้สมองสั่งให้ร่างกายขับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้มีระดับต่ำในเลือด
    เวียนศีรษะ หน้ามืด เป็นลม เนื่องจากการขยายตัวของหลอดเลือด (ทำให้ความดันโลหิตต่ำ) ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ รวมทั้งภาวะโลหิตจาง ซึ่งอาจพบในผู้ป่วยบางราย
    คลื่นไส้ พะอืดพะอม บางครั้งอาเจียน
    แสบลิ้นปี่จากโรคกรดไหลย้อน เนื่องจากกล้ามเนื้อหูรูดส่วนปลายหลอดอาหารหย่อนคลาย (เนื่องจากฮอร์โมนโพรเจสเทอโรน) และการดันของมดลูก พบได้บ่อยในช่วงไตรมาสที่ 3
    ท้องผูก เนื่องจากอิทธิพลของโพรเจสเทอโรน ร่วมกับการกดของมดลูกต่อลำไส้ใหญ่
    ปัสสาวะบ่อย เนื่องจากไตขับปัสสาวะมากขึ้น ร่วมกับมดลูกกดกระเพาะปัสสาวะ (ในช่วงไตรมาสแรก) และศีรษะทารกกดกระเพาะปัสสาวะ (ในช่วงใกล้คลอด) ทำให้มีความจุลดลง จึงเกิดอาการปวดถ่ายปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะเวลาเข้านอนตอนกลางคืน จะพบในช่วงไตรมาสแรกและช่วงใกล้คลอด
    เท้าบวม หลอดเลือดขอดที่ขาและช่องคลอด และริดสีดวงทวาร เนื่องจากมดลูกกดท่อเลือดดำในช่องท้อง ทำให้เลือดดำจากเท้าและบริเวณเชิงกรานไหลกลับเข้าสู่หัวใจไม่ได้
    มีฝ้าหรือปื้นสีน้ำตาลขึ้นที่หน้าผาก โหนกแก้มและคอ ผิวหนังที่หน้าท้องออกแดงและแตกเป็นรอย (บางครั้งพบที่บริเวณหน้าขาและเต้านม) และตรงกลางของบริเวณหน้าท้อง มีเส้นสีน้ำตาลดำ เชื่อว่าเกิดจากรกสร้างฮอร์โมนกระตุ้นเซลล์เม็ดสี (melanocyte stimulating hormone) ให้สร้างเม็ดสี (melanin) มากขึ้น
    จุดแดงรูปแมงมุม (spider nevi) เนื่องจากการพองตัวของหลอดเลือดฝอย พบที่บริเวณหน้าท้อง หน้าอก จมูก
    ปวดหลังส่วนล่าง เนื่องจากกระดูกสันหลังแอ่นมากขึ้น เพื่อปรับความสมดุลของร่างกายจากการโตขึ้นของมดลูก
    น้ำหนักตัวค่อย ๆ เพิ่มมากขึ้น โดยประมาณดังนี้ อายุครรภ์ 10 สัปดาห์ 650 กรัม 20 สัปดาห์ 4 กก. 30 สัปดาห์ 8.5 กก. และ 40 สัปดาห์ 12.5 กก.

ภาวะแทรกซ้อน

การตั้งครรภ์อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้หลายลักษณะจากสาเหตุต่าง ๆ (อ่านเพิ่มเติมที่ "ภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์” ด้านล่าง)

หญิงตั้งครรภ์ประมาณ 1 คน ใน 500 คน อาจมีภาวะแพ้ท้องอย่างแรง (hyperemesis gravidarum) ซึ่งจะมีอาการอาเจียนรุนแรงจนกินได้น้อย อาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ, ภาวะเลือดเป็นกรด, น้ำหนักลด และขาดสารอาหารได้ (ซึ่งอาจส่งผลให้ทารกตัวเล็ก และขาดสารอาหารได้), ทารกคลอดก่อนกำหนดหรือแท้งบุตร, มารดามีภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน, อาจทำให้หญิงตั้งครรภ์เกิดภาวะเซลล์ตับตาย (necrosis) และมีภาวะไขมันสะสมในตับ (fatty liver) ซึ่งทำให้เกิดอาการดีซ่าน, อาจทำให้หญิงตั้งครรภ์มีภาวะหลอดอาหารทะลุ หรือปอดทะลุ, ไตวาย, ภาวะหลอดเลือดดำส่วนลึกมีลิ่มเลือด หรือภาวะสิ่งหลุดอุดตันหลอดเลือดแดงปอด

ภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงที่อาจพบได้ในรายที่มีอาการแพ้ท้องอย่างแรงอีกประการหนึ่งก็คือ อาจทำให้จอตาอักเสบและมีเลือดออก (hemorrhagic retinitis) ทำให้ตาบอดได้ ถ้าพบจำเป็นต้องรีบยุติการตั้งครรภ์

ภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์

    จากการโตขึ้นของมดลูก อาจทำให้เกิดผล เช่น การกีดขวางการไหลกลับของเลือดดำจากเท้าและบริเวณอุ้งเชิงกราน ทำให้เกิดหลอดเลือดขอดที่ขา และช่องคลอด ริดสีดวงทวาร เท้าบวม การอุดกั้นทางเดินปัสสาวะทำให้กระเพาะปัสสาวะอักเสบ กรวยไตอักเสบ การดันกระเพาะอาหาร ทำให้เกิดโรคกรดไหลย้อน
    จากภาวะขาดสารอาหารที่ร่างกายมีความต้องการมากขึ้นขณะตั้งครรภ์ เช่น โลหิตจางจากภาวะขาดธาตุเหล็ก ความผิดปกติโดยกำเนิดของระบบประสาทและสมอง (เช่น ภาวะไม่มีสมอง ความผิดปกติของไขสันหลังหรือ spina bifida) จากภาวะขาดกรดโฟลิก
    จากภาวะดื้อต่ออินซูลิน (insulin resistance) เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่หลั่งจากรก อาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ และโรคเบาหวานที่เป็นอยู่เดิมกำเริบมากขึ้น
    ความผิดปกติจากการตั้งครรภ์ เช่น ครรภ์เป็นพิษ แท้งบุตร ครรภ์นอกมดลูก ครรภ์ไข่ปลาอุก รกเกาะต่ำ รกลอกตัวก่อนกำหนด
    ขณะตั้งครรภ์อาจทำให้เกิดโรคบางชนิดได้บ่อยกว่าคนทั่วไป เช่น โรคกรดไหลย้อน อัมพาตเบลล์ เส้นประสาทมือถูกพังผืดรัดแน่น ความดันโลหิตสูงที่เกิดจากการตั้งครรภ์ (pregnancy-induced hypertension) ซึ่งจะลดลงเป็นปกติหลังคลอด เป็นต้น และโรคที่เคยเป็นอยู่ก่อนตั้งครรภ์มีอาการกำเริบมากขึ้น เช่น หืด ริดสีดวงทวาร ไมแอสทีเนียเกรวิส ไอทีพี

โรคติดเชื้อบางชนิดอาจเป็นรุนแรง เช่น ปอดอักเสบจากไข้หวัดใหญ่ หรืออีสุกอีใส

โรคภูมิต้านตนเอง เช่น โรคปวดข้อรูมาตอยด์ เอสแอลอี เป็นต้น มีอาการเปลี่ยนแปลงไม่แน่นอนอาจมีอาการกำเริบขณะตั้งครรภ์ หรือทุเลาขณะตั้งครรภ์ แต่หลังคลอดก็จะกำเริบทันที

    ภาวะแทรกซ้อนต่อทารกในครรภ์ อาจทำให้แท้งบุตร ทารกคลอดก่อนกำหนด ทารกเสียชีวิต พิการ หรือมีความผิดปกติเกี่ยวกับการเจริญเติบโตและพัฒนาการ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาวะแทรกซ้อนจากโรคที่มารดาเป็นขณะตั้งครรภ์ เช่น คอพอกจากภาวะขาดไอโอดีน ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง เอสแอลอี โรคลมชัก โรคหัดเยอรมัน อีสุกอีใส ซิฟิลิส มาลาเรีย เป็นต้น

นอกจากนี้อาจเป็นภาวะแทรกซ้อนจากการใช้ยา บริโภคแอลกอฮอล์ บุหรี่ หรือสารเสพติด

    ภาวะแทรกซ้อนจากการคลอด ได้แก่ การคลอดยากเนื่องจากสาเหตุต่าง ๆ (เช่น ทารกตัวโต หรืออุ้งเชิงกรานมีขนาดเล็ก ทารกท่าก้น ทารกท่าขวาง ทารกแฝดหลายคน มารดาอายุมาก เป็นต้น) มารดามีส่วนสูง < 150 ซม. ภาวะตกเลือดหลังคลอด โรคชีแฮน
    ภาวะไขมันสะสมในตับ (fatty liver) ซึ่งพบได้น้อยมากในระยะท้ายของการตั้งครรภ์ ภาวะนี้เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ดีซ่าน และอาจเกิดภาวะตับวายได้

การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ ดังนี้

ในระยะแรกเริ่มอาจตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติชัดเจน หากสงสัยควรทำการตรวจปัสสาวะ โดยชุดตรวจปัสสาวะสำเร็จรูป ซึ่งมักจะให้ผลบวกในรายที่มีการตั้งครรภ์ หากครั้งแรกให้ผลลบ ควรตรวจซ้ำอีกครั้งใน 1 สัปดาห์

เมื่ออายุครรภ์มากขึ้นจะพบอาการท้องป่อง เต้านมคัด ลานหัวนมมีสีคล้ำ ฝ้าขึ้น หน้าท้องออกแดงและแตกเป็นลาย จุดแดงรูปแมงมุม เท้าบวม หลอดเลือดขอดที่ขา การตรวจพบการเต้นของหัวใจทารก การคลำได้ส่วนต่าง ๆ ของทารก

แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยทำการทดสอบการตั้งครรภ์ด้วยการใช้ชุดตรวจปัสสาวะสำเร็จรูป หากตรวจ 2 ครั้งแล้วให้ผลลบ อาจต้องส่งตรวจหาระดับฮอร์โมนเอชซีจีในเลือด ซึ่งให้ผลแน่นอนกว่าและสามารถตรวจพบตั้งแต่ระยะแรกของการตั้งครรภ์

การรักษาโดยแพทย์

แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้
1. ตรวจเช็กสุขภาพทั่วไปของมารดาและทารกในครรภ์ ประเมินอายุครรภ์* และความเสี่ยง โดยการซักประวัติตรวจร่างกายอย่างละเอียด และทำการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น ตรวจระดับความเข้มข้นของเลือด รวมทั้งขนาดและลักษณะของเม็ดเลือดแดง กลุ่มเลือด (ABO และ Rh) ตรวจกรองโรคเบาหวาน (ดู "โรคเบาหวาน" เพิ่มเติม) โรคติดเชื้อ (เช่น ซิฟิลิส ไวรัสตับอักเสบบี เอดส์ หัดเยอรมัน เป็นต้น) ทาลัสซีเมีย

บางรายแพทย์อาจทำการตรวจอัลตราซาวนด์เพื่อดูลักษณะและความผิดปกติของทารกในครรภ์

2. ให้การดูแลภาวะเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น ให้ยาบำรุงโลหิต ในรายที่มีภาวะโลหิตจาง ให้ยาควบคุมความดันโลหิตสูง เบาหวาน เอดส์ เป็นต้น

ถ้าพบว่ามีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น แท้งบุตร รกเกาะต่ำ รกลอกตัวก่อนกำหนด ครรภ์เป็นพิษ ครรภ์ไข่ปลาอุก เป็นต้น ก็ให้การดูแลรักษาให้ปลอดภัย บางกรณีอาจจำเป็นต้องรับตัวผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล

3. แพทย์จะให้คำแนะนำการปฏิบัติตัวสำหรับหญิงตั้งครรภ์ และการดูแลตนเองสำหรับผู้ที่มีอาการแพ้ท้อง
โดยทั่วไปผู้ป่วยมักจะมีอาการแพ้ท้องอยู่นาน 14-16 สัปดาห์ แล้วทุเลาไปได้เอง

ในรายที่มีอาการอาเจียนมากจนกินอาหารไม่ได้ แพทย์อาจพิจารณาให้ยาแก้อาเจียน เช่น ไดเฟนไฮดรามีน ไดเมนไฮดริเนต หรือดอมเพอริโดน

ในรายที่มีอาการอาเจียนรุนแรงและต่อเนื่อง มีภาวะขาดน้ำ ภาวะเลือดเป็นกรด (มีอาการหายใจหอบลึก) ขาดสารอาหาร ตาพร่ามัวซึ่งเกิดขึ้นฉับพลัน หรือดีซ่าน หรือสงสัยเป็นอาการแพ้ท้องอย่างแรง แพทย์จะรับตัวผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล มักจะต้องให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ และให้อาหารทางสายยางหรือหลอดเลือด ในรายที่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงอาจต้องทำการยุติการตั้งครรภ์เพื่อป้องกันมิให้มารดาได้รับอันตราย

4. ให้ยาบำรุงโลหิต เช่น เฟอร์รัสฟูมาเรต 200 มก./วัน เพื่อป้องกันภาวะโลหิตจาง ในรายที่กินอาหารได้น้อย ควรให้วิตามินและแร่ธาตุอื่น ๆ เสริม

5. ฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก (ดู "โรคบาดทะยัก" เพิ่มเติม)

ภาวะครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูง

    มารดาอายุ ≤ 15 ปี อาจเสี่ยงต่อครรภ์เป็นพิษ และทารกน้ำหนักน้อย
    มารดาอายุ ≥ 35 ปี อาจเสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูง เบาหวานขณะตั้งครรภ์ (gestational diabetes mellitus) ภาวะแทรกซ้อนขณะคลอด
    น้ำหนักตัวมารดา < 40 กก. มักจะคลอดบุตรน้ำหนักน้อย
    น้ำหนักตัวมารดามากกว่าปกติ อาจเสี่ยงต่อโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ครรภ์เป็นพิษ ทารกตัวโตและคลอดยาก
    มารดามีส่วนสูง < 150 ซม. อาจเสี่ยงต่อการคลอดยาก ทารกคลอดก่อนกำหนด
    มารดามีอาชีพที่สัมผัสสารเคมี รังสี หรือโรคติดเชื้อ เสี่ยงต่อทารกพิการ
    มารดามีโรคหรือภาวะผิดปกติ เช่น โลหิตจาง เบาหวาน ต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง โรคไต โรคลมชัก เอสแอลอี โรคติดเชื้อ (ซิฟิลิส เอดส์ ไวรัสตับอักเสบบี หัดเยอรมัน อีสุกอีใส) อาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนในมารดาและทารก

อาการที่ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ/รีบไปพบแพทย์

    ปวดศีรษะอย่างต่อเนื่องหรือรุนแรง
    คลื่นไส้ อาเจียนอย่างต่อเนื่องหรือรุนแรง
    เวียนศีรษะหน้ามืด
    ตามัว หรือสายตาผิดปกติ
    ปวดท้องน้อย
    มดลูกบีบตัว
    เลือดออกทางช่องคลอด
    น้ำคร่ำรั่ว (มีน้ำใส ๆ ออกทางช่องคลอด)
    มือหรือเท้าบวม
    ปัสสาวะออกมากหรือน้อยกว่าปกติ
    มีการติดเชื้อหรือการเจ็บป่วยอื่น ๆ
    ทารกที่เคยดิ้นแล้วไม่ดิ้นหรือดิ้นน้อยลง

*คำนวณวันกำหนดคลอด (expected date of confinement/EDC) = วันแรกของการมีประจำเดือนครั้งสุดท้าย (LMP) + 9 เดือน + 7 วัน เช่น LPM คือ 20 มีนาคม 2550 วันกำหนดคลอด คือวันที่ 27 ธันวาคม 2550 ประมาณร้อยละ 90 จะมีการคลอดจริงภายใน 2 สัปดาห์ก่อนหรือหลังวันกำหนดคลอดที่คำนวณได้

การดูแลตนเอง

หากสงสัยตั้งครรภ์ (เช่นประจำเดือนขาด) หรือมีอาการแพ้ท้อง (เช่น คลื่นไส้ อาเจียนบ่อย) ควรปรึกษาแพทย์

เมื่อตรวจพบว่าตั้งครรภ์หรือแพ้ท้อง ควรรักษา กินยาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ และติดตามการรักษากับแพทย์ตามนัด

สำหรับผู้ที่มีอาการแพ้ท้อง ควรดูแลตนเอง ดังนี้

    ดื่มนมหรือเครื่องดื่มร้อน ๆ หลังตื่นนอน พร้อมกับกินขนมขบเคี้ยวที่ไม่หวาน (เช่น ขนมปังกรอบ บิสกิต) แล้วควรนอนพักสัก 15 นาทีก่อนลุกจากเตียง เพื่อไม่ให้ท้องว่าง ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน
    กินอาหารที่ย่อยง่าย ควรกินอาหารที่ยังอุ่น ๆ แบ่งเป็นมื้อย่อย ๆ วันละ 5-6 มื้อ
    หลีกเลี่ยงอาหารมัน ของทอด อาหารรสเปรี้ยวจัด เผ็ดจัด ของหมักดอง รวมทั้งอาหารและกลิ่นที่กระตุ้นให้รู้สึกคลื่นไส้มากขึ้น
    ดื่มน้ำให้เพียงพอ โดยการจิบน้ำทีละน้อยแต่บ่อย ๆ
    เมื่อรู้สึกคลื่นไส้ จิบน้ำอุ่น หรือดื่มน้ำขิงอุ่น ๆ
    ถ้าแพ้ท้องมาก กินอะไรออกหมด ให้อมลูกอมบ่อย ๆ จิบน้ำหวานหรือน้ำผลไม้ทีละน้อยบ่อย ๆเพื่อให้พลังงานและป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
    หลังอาเจียน ควรดื่มน้ำอุ่น ๆ และกลั้วคอล้างกลิ่นที่อาจทำให้รู้สึกคลื่นไส้พะอืดพะอม
    นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ หาอะไรทำเพลิน ๆ เพื่อคลายเครียดและลืมความรู้สึกคลื่นไส้พะอืดพะอม
    อยู่ในที่ ๆ มีอากาศถ่ายเทสะดวก และหมั่นเดินเล่นสูดอากาศบริสุทธิ์นอกบ้านทุกวัน


สำหรับหญิงตั้งครรภ์ทุกท่านทั้งที่มีและไม่มีอาการแพ้ท้อง ควรปฏิบัติตัวดังนี้

    กินอาหารพวกโปรตีน (เช่น เนื้อสัตว์ นม ไข่ ถั่วเหลือง เต้าหู้) อาหารที่มีธาตุเหล็ก (เช่น ตับ เครื่องในสัตว์ นม ไข่) แคลเซียม (เช่น นม เต้าหู้ก้อนแข็ง ยาเม็ดแคลเซียม) ผักและผลไม้ให้มาก ๆ
    งดแอลกอฮอล์ (อาจทำให้ทารกพิการหรือปัญญาอ่อน) และบุหรี่ (อาจทำให้ทารกตัวเล็กคลอดก่อนกำหนด หรือแท้ง)
    อย่าซื้อยาใช้เอง เพราะอาจได้รับยาที่เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้ (ดูเพิ่มเติมในข้อ "ควรระวังในการใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์")
    ทำงานและกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ตามปกติ สามารถออกกำลังกายได้ แต่ไม่ควรหักโหมจนเกินไป
    พักผ่อนนอนหลับให้มากขึ้น เมื่อครรภ์ใหญ่ขึ้นควรนอนตะแคง หลีกเลี่ยงการนอนหงาย เพราะมดลูกอาจกดหลอดเลือดใหญ่และท่อเลือดดำได้
    ไม่ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่นเกินไป ในรายที่เต้านมใหญ่ควรเปลี่ยนเสื้อชั้นในที่สามารถประคองเต้านม
    หลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าส้นสูง เพราะอาจทำให้ปวดหลังได้ง่าย
    สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้จนกระทั่งประมาณ 4 สัปดาห์ก่อนวันกำหนดคลอด โดยหลีกเลี่ยงท่าที่ฝ่ายชายทาบทับที่ท้องโดยตรง ถ้ามีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดหรือเจ็บครรภ์ก่อนกำหนดควรงดการมีเพศสัมพันธ์
    ควรฝากครรภ์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอจนกระทั่งคลอด โดยทั่วไปก่อนอายุครรภ์ 28 สัปดาห์ จะนัดตรวจทุก 4 สัปดาห์ อายุครรภ์ 28-38 สัปดาห์ จะนัดตรวจทุก 2 สัปดาห์ และอายุครรภ์ 38 สัปดาห์ขึ้นไปจะนัดตรวจทุก 1 สัปดาห์
    ถ้าหากมีอาการผิดปกติ ควรรีบกลับไปแจ้งให้แพทย์ทราบ (อ่านเพิ่มเติมที่ “อาการที่ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ” หัวข้อการรักษาโดยแพทย์ ด้านบน)
    ในระยะใกล้คลอด ควรหลีกเลี่ยงการใช้แอสไพริน และยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เพราะอาจทำให้มดลูกไม่บีบตัว ไม่มีแรงเบ่งคลอด คลอดยากได้

การป้องกัน

ยังไม่มีวิธีป้องกันไม่ให้เกิดอาการแพ้ท้องที่ได้ผล แต่เมื่อมีอาการแพ้ท้องเกิดขึ้น อาจลดอาการให้น้อยลงได้ด้วยการดูแลตนเองดังที่กล่าวไว้ในหัวข้อ "การดูแลตนเอง” ด้านบน

ข้อแนะนำ

1. หญิงตั้งครรภ์ควรศึกษาให้เข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ภาวะเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้ การดูแลรักษาครรภ์ และการปฏิบัติตัวต่าง ๆ การเตรียมตัวเตรียมใจในการคลอดและการเลี้ยงดูทารก รวมทั้งประโยชน์และการเตรียมตัวในการเลี้ยงทารกด้วยนมมารดา

2. สำหรับผู้ที่มีอาการแพ้ท้อง ควรให้ความมั่นใจว่าอาการจะหายได้เองภายหลังตั้งครรภ์ได้ 14-16 สัปดาห์ ควรแนะนำให้สามีและญาติเห็นใจ ให้กำลังใจ ดูแลช่วยเหลือผู้ป่วย

3. อาการอาเจียน นอกจากเกิดจากภาวะแพ้ท้องแล้ว ยังอาจมีสาเหตุจากโรคตับ โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ตับอ่อนอักเสบ กระเพาะลำไส้อุดกั้น โรคทางกระเพาะลำไส้ โรคทางสมอง เป็นต้น ถ้าหากมีอาการอาเจียนรุนแรงหรือต่อเนื่อง ก็ควรตรวจหาสาเหตุดังกล่าว

4. หญิงตั้งครรภ์มีโอกาสเป็นโรคติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะได้ง่าย และบางครั้งอาจไม่มีอาการแสดง จึงควรตรวจปัสสาวะเป็นครั้งคราวขณะฝากครรภ์ หากพบจะได้ให้การรักษาเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดกรวยไตอักเสบเฉียบพลัน

5. ถ้าสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยหัดเยอรมันหรืออีสุกอีใส ควรรีบแจ้งให้แพทย์ทราบ เพื่อตรวจดูว่ามีการติดเชื้อไวรัสเหล่านี้หรือไม่ เพราะการติดเชื้อไวรัสเหล่านี้อาจทำให้ทารกพิการได้

6. ขณะตั้งครรภ์ โรคบางชนิด เช่น ไมเกรน เยื่อบุมดลูกต่างที่ มักจะทุเลาหรือปลอดจากอาการได้ในไตรมาสที่ 2 และ 3 แต่หลังคลอดก็จะกำเริบได้ใหม่

7. ในปัจจุบันแพทย์สามารถทำการตรวจวินิจฉัยทารกก่อนคลอด (prenatal diagnosis) ซึ่งมีอยู่หลายวิธี เช่น

    การตรวจกรองความผิดปกติของโครโมโซมและระบบประสาทของทารก เช่น กลุ่มอาการดาวน์ (Down’s syndrome)* ภาวะไม่มีสมอง (anencephaly) ความผิดปกติของไขสันหลัง (spina bifida) โดยการเจาะเลือดมารดาตรวจระดับ alpha-fetoprotein (AFP), beta-HCG และ unconjugated estriol เทียบกับค่ามาตรฐาน
    มารดาที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป (ซึ่งเสี่ยงต่อมีบุตรเป็นกลุ่มอาการดาวน์) มารดาเคยคลอดบุตรที่มีโครโมโซมผิดปกติ มารดามีประวัติการแท้งเป็นอาจิณ บิดาและมารดาเป็นโรคหรือมียีนแฝงของทาลัสซีเมีย (ซึ่งบุตรมีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรคทาลัสซีเมีย) ตรวจกรองเลือดมารดาแล้วพบความผิดปกติของโครโมโซม หรือตรวจอัลตราซาวนด์แล้วพบความพิการ สูติแพทย์จะทำการเจาะดูดน้ำคร่ำ (amniocentesics) หรือเก็บตัวอย่างเนื้อรก (chorionic villus sampling) เพื่อตรวจหาความผิดปกติของโครโมโซม


8. การป้องกันความผิดปกติของทารก บางกรณีควรกระทำตั้งแต่ก่อนจะตั้งครรภ์ เช่น

    ในรายที่ยังไม่เคยเป็นหัดเยอรมัน และอีสุกอีใส (ตรวจเลือดไม่พบสารภูมิต้านทานต่อโรคเหล่านี้) ควรฉีดวัคซีนป้องกัน (ดู “โรคหัด” และ “โรคอีสุกอีใส”)
    ป้องกันไม่ให้เกิดความผิดปกติของระบบประสาท (neural tube defect) เช่น spida bifida โดยการกินกรดโฟลิก (folic acid) 4 มก. วันละครั้ง ตั้งแต่ 3 เดือนก่อนตั้งครรภ์จนกระทั่งพ้นระยะตั้งครรภ์ไตรมาสแรก

* ทารกมีโครโมโซมคู่ที่ 21 เกินมา 1 อันกลายเป็น 3 อัน (trisomy 21) ทำให้ทารกมีพัฒนาการทางสมองช้า กลายเป็นปัญญาอ่อน มีลักษณะตัวเตี้ย หน้าตาแปลก ศีรษะแบน คอสั้น ผิวหนังที่คอด้านหลังหย่อน ดั้งจมูกแบน หูเล็กเกาะต่ำและพับ อ้าปาก แลบลิ้นออกมา มือกว้างสั้น มีเส้นลายมือขวางเส้นเดียว นิ้วก้อยโค้ง ช่องระหว่างนิ้วเท้าที่ 1 และ 2 กว้างและมีร่องลึกลงมาทางฝ่าเท้า บางครั้งอาจมีความผิดปกติของร่างกายร่วมด้วย เช่น โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ลำไส้เล็กส่วนต้นตัน (duodenal atresia) มีทางทะลุระหว่างหลอดลมกับหลอดอาหาร (tracheoesophageal fistula) เป็นต้น มักพบในมารดาที่ตั้งครรภ์ตอนอายุมาก กล่าวคือ มารดาอายุน้อยกว่า 30 ปีมีโอกาสมีบุตรเป็นโรคนี้น้อยกว่า 1/900 อายุ 35 ปีมีโอกาสประมาณ 1/350 และอายุ 40 ปีขึ้นไปมีโอกาสมากกว่า 1/100